CGSC

Once Upon a Time...

Search
Search ×
Menu
  1. หน้าหลัก
  2. ความภาคภูมิใจ
  3. คุณค่าหลักแห่งสถาบัน
  4. e-Curriculum
  5. หลักสูตร
    1. หลักสูตรหลักประจำ
    2. หลักสูตร นบส.
    3. หลักสูตร ศศ.ม.
    4. หลักสูตร พรส.
    5. หลักสูตรอื่นๆ
    6. งานประกันคุณภาพการศึกษา
  6. คลังตำรา
  7. ข่าวสาร
  8. วีดิทัศน์
  9. ติดต่อเรา




 

หลักสูตร การพัฒนาองค์ความรู้การก่อการร้ายและการก่อความไม่สงบ สำหรับผู้บริหาร (พรส.) เล่มที่ ๑

จุดเริ่มต้น...เส้นทางที่ก้าวเดิน

 

โดย พ.อ.บุญรอด ศรีสมบัติ

ตำนานผู้ก่อตั้งหลักสูตร

 
ดาวน์โหลดหลักสูตร
 
 
 
 

คำนำ

สงครามต่อต้านการก่อการร้าย (Global War on Terror)

 


ด้วยสภาพแวดล้อมด้านความมั่นคงของโลกปัจจุบัน มีมิติที่ถูกครอบงำจาก “สงครามต่อต้านการก่อการร้าย (Global War on Terror)” ที่ส่งผลกระทบเชื่อมโยงในทุกระดับ ทั้งในระดับโลก ระดับภูมิภาค และระดับชาติ ทั้งยังก่อให้เกิดกระแสการก่อความไม่สงบปะทุขึ้นตามจุดต่างๆของโลก ซึ่งประเทศไทยก็ตกอยู่ภายใต้บริบทดังกล่าวด้วย โดยที่ปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นกรณีศึกษาที่ต้องการความรู้ ความเข้าใจ ในความเชื่อมโยงขององค์ความรู้ ระหว่างการก่อการร้ายและการก่อความไม่สงบในสภาพแวดล้อมของสังคมแบบไทยๆ

 

โรงเรียนเสนาธิการทหารบกเล็งเห็นว่าการแก้ปัญหาการก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ได้ผลสำเร็จโดยพลันนั้นจำเป็นจะต้อง “สร้างความเข้าใจ” ในตัวปัญหาที่แท้จริงระหว่างผู้กำหนดนโยบายของทุกภาคส่วน เพื่อให้สามารถกำหนดกรอบและทิศทางการแก้ไขปัญหาที่สอดคล้องกัน โรงเรียนเสนาธิการทหารบกฯ จึงได้เปิด “หลักสูตรการก่อการร้าย, สงครามต่อต้านการก่อการร้าย, การก่อความไม่สงบและการป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบ สำหรับผู้บริหาร รุ่นที่ ๑” ขึ้นระหว่างวันที่ ๑๕ มกราคม – ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ เป็นครั้งแรกของกองทัพบกและเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆที่ยิ่งใหญ่ จากความสำเร็จของหลักสูตรฯ ทำให้ได้รับการบันทึกประวัติศาสตร์ไว้ใน “สรุปเหตุการณ์สำคัญในรอบ ๙๙ ปี ของการสถาปนาโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ครบรอบ ๙๙ ปี” ว่า ในปี พ.ศ.๒๕๕๑ ได้มีการเปิดการศึกษา “หลักสูตรการก่อการร้าย สงครามต่อต้านการก่อการร้าย การก่อความไม่สงบและการป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบสำหรับผู้บริหาร รุ่นที่ ๑”

ในขณะเดียวกันผลของหลักสูตรการก่อการร้ายฯ รุ่นที่ ๑ ได้เกิดลูกโซ่แห่งองค์ความรู้ครั้งแรกด้วยการเปิดหลักสูตรร่วมระหว่างโรงเรียนเสนาธิการทหารบกกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ ภายใต้ชื่อ “หลักสูตรการพัฒนาองค์ความรู้การก่อการร้าย-การก่อความไม่สงบ” ขึ้นเมื่อ ๒๓-๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๑ และในปีต่อมาเมื่อ ๒๐ มกราคม-๕ มีนาคม ๒๕๕๒ ก็ได้มีการเปิดหลักสูตรการก่อการร้ายฯ รุ่นที่ ๒ และรุ่นที่ ๓ เมื่อ ๑๒ มกราคม - ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ (รุ่นแรกที่ใช้ชื่อหลักสูตร พรส.) พรส. รุ่นที่ ๔ เมื่อ ๑๓ มกราคม -  ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ พรส. รุ่นที่ ๕ เมื่อ ๑๒ มกราคม – ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ พรส. รุ่นที่ ๖ เมื่อ ๑๐ มกราคม – ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖

จากบทเรียนและประสบการณ์ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีการรวบรวมบทความที่ได้พยายามเล่าเรื่องหลักสูตรผ่านวารสารเสนาธิปัตย์ ตลอดระยะเวลา ๖ ปีที่ผ่านมา จนทำให้เกิดเอกสาร “หลักสูตร พรส. : จุดเริ่มต้น...เส้นทางที่ก้าวเดิน นี้ขึ้น เพื่อเป็นประวัติศาสตร์ของหลักสูตรฯ ไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา โดยมีเนื้อหาสาระดังนี้        

ส่วนแรก  “เบื้องหลังโครงการหลักสูตรสงครามต่อต้านการก่อการร้ายสำหรับผู้บริหาร” เขียนไว้เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๕๐ เป็นการกล่าวถึงเบื้องลึกเบื้องหลังและแรงจูงใจที่ทำให้เกิด “คิดการใหญ่” ในการจัดทำหลักสูตร โดยได้ย้อนถึงความในใจพร้อมแรงผลักดันความคิดจากผู้ใหญ่ (ผบ.สบส.) ขณะนั้นมีการพูดถึงกระบวนการจัดทำโครงการหลักสูตรว่า มีปัญหาอุปสรรคอย่างไร? และจะต้องใช้พลังกาย-พลังใจสูงมากขนาดไหน? ในการที่จะก้าวพ้นอุปสรรคดังกล่าว ส่วนนี้ได้เขียนขึ้นก่อนได้รับอนุมัติโครงการหลักสูตรจากกองทัพบก ท้ายที่สุดกองทัพบกก็อนุมัติหลักสูตร ก.ต.ส.ป. รุ่นที่ ๑ 

 

ส่วนที่ ๒ “โครงการหลักสูตรการพัฒนาองค์ความรู้การก่อการร้ายและการก่อความไม่สงบ สำหรับผู้บริหาร” เป็นการแสดงถึงโครงการหลักสูตรฯ ให้ครอบคลุมองค์ความรู้ในด้านการก่อการร้ายและการก่อความไม่สงบและรายละเอียดองค์ประกอบของโครงการหลักสูตรฯ 

 

ส่วนที่ ๓  ก้าวใหม่หลักสูตรการก่อการร้าย : พัฒนาเชิงคุณภาพ เป็นการย่างเข้าปีที่ ๒ ของการเปิด “หลักสูตรการก่อการร้าย, สงครามต่อต้านการก่อการร้าย, การก่อความไม่สงบและการป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบ สำหรับผู้บริหาร รุ่นที่ ๒” (ก.ต.ส.ป.รุ่นที่ ๒) โดยมีการพัฒนาเชิงคุณภาพในเรื่อง (๑) การเตรียมการทางด้านเอกสาร (๒) ความพร้อมของการขออนุมัติจากกองทัพบก (๓) การเตรียมในการเชิญผู้ทรงคุณวุฒิมาบรรยาย (๔) ความพร้อมในการเปิดรับสมัครและคุณสมบัติของผู้เข้ารับการอบรม (๕) คุณภาพของผู้เข้ารับการศึกษา 

 

ส่วนที่ ๔  กว่าจะเป็น “พ.ร.ส. รุ่นที่ ๓” เป็นการเล่าถึงหลักสูตรการพัฒนาองค์ความรู้การก่อการร้ายและการก่อความไม่สงบ สำหรับผู้บริหาร รุ่นที่ ๓ หรือเรียกชื่อย่อว่า “หลักสูตร พ.ร.ส. รุ่นที่ ๓” ครั้งนั้น พ.ร.ส. ยังใช้จุดทุกตัวพยัญชนะ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ใช้คำย่อเป็น “พ.ร.ส.” มีการระบุถึงความหมายของ Key word สำคัญๆ ของหลักสูตร เช่นคำว่า การพัฒนา – องค์ความรู้และผู้บริหาร และยังได้กล่าวถึง ๖ กลุ่มเป้าหมายที่โดดเด่นของหลักสูตรฯ และแรงจูงใจของนักศึกษา แล้วจะได้นำเสนอในเรื่องแนวโน้มของหลักสูตรว่าจะมีทิศทางอย่างไร? และจบด้วย บทสรุป: หลักสูตร พ.ร.ส.จะทำ “หน้าที่” นี้อย่างไร? 

 

ส่วนที่ ๕ “หลักสูตร พรส. ใหม่ : “สร้างองค์ความรู้ สู้จากฐานปัญญา” เป็นการเล่าเรื่องความก้าวหน้าของหลักสูตร พรส. รุ่นที่ ๔ ที่ได้รับอนุมัติจากกองทัพบกอย่างเป็นทางการ มีการกำหนด คำย่อของหลักสูตรว่า “พรส.” พร้อมกำหนดคำขวัญของหลักสูตรว่า “สร้างองค์ความรู้ สู้จากฐานปัญญา” มีการจัดทำเว็บไซต์ เพื่อการบริหารจัดการองค์ความรู้ของ “เครือข่าย พรส.” ต่อไป

 

ส่วนที่ ๖ พรส.๕ : ก้าวย่างแห่งคุณภาพ เป็นระบุถึงการเปลี่ยนแปลง “เชิงคุณภาพ” ของหลักสูตรพรส.รุ่นที่ ๕ ที่น่าสนใจ ได้แก่ มีนายพลและผู้พิพากษาคนแรกที่เข้ารับการศึกษาหลักสูตร รวมทั้งอาจารย์มหาวิทยาลัยระดับหัวหน้าภาควิชาผู้นำทางสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต และรีไรเตอร์อาวุโสของกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น จากนั้นจะได้กล่าวถึงการคัดสรรที่เข้มข้นขึ้นกับเนื้อหาสาระของหลักสูตรที่เปลี่ยนไป จบท้ายด้วยกระบวนการสร้าง “เครือข่าย พรส.”  ซึ่งได้ก่อตั้งขึ้นแล้วเมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕

 

ส่วนที่ ๗ พรส.๖ : แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ เป็นเรื่องที่ว่าด้วย จุดเปลี่ยนของหลักสูตร พรส.รุ่นที่ ๖ ที่จะต้องบันทึกจุดแข็งของหลักสูตรฯและองค์ความรู้ใหม่ ริเริ่มที่จะทำหนังสือ “สื่อสังคมออนไลน์ : ภัยคุกคามด้านความมั่นคง?”  และ “กล่ององค์ความรู้ พรส.” เป็นกล่องกระดาษที่บรรจุด้วยหนังสือ ๕ เล่ม จากงานเขียนของคณะจารย์และศิษย์เก่า พรส.  เพื่อแสดงให้เห็นพัฒนาการของหลักสูตรที่นับวันจะเข้าใกล้ปลายอุโมงค์แห่งความสำเร็จเข้าไปทุกที

 

ส่วนที่ ๘ พรส.๗ : โครงการนักวิชาการพบนักรบ จชต. เป็นโครงการที่มีเป้าหมายเพื่อให้กำลังพลของกองทัพบกที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ จชต. ได้มีโอกาสรับฟังการเสนอแนะชี้แจงและแลกเปลี่ยนความคิด หลักการที่เหมาะสม และในโอกาสเดียวกันนี้ยังเป็นการเปิดโอกาสให้นักวิชาการได้รับรู้ข้อมูลข้อเท็จจริงจากผู้ปฏิบัติในพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาหลักนิยม สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง อันจะส่งผลให้การแก้ไขปัญหา จชต. ไปสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน ทั้งนี้นับว่าเป็นโอกาสที่ดีเป็นอย่างยิ่งที่นักศึกษาหลักสูตร พรส.๗ และคณาจารย์ รร.สธ.ทบ. ได้ลงพื้นที่จริง ณ อำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี อำเภอเสาะ จังหวัดนราธิวาส และอำเภอรามัน จังหวัดยะลา ทำให้ได้ข้อมูลการปฏิบัติการข่าวสาร (IO) ที่เป็นจริงในพื้นที่ มากกว่าการนั่งในห้องเรียน รายละเอียดอยู่ในภาคผนวกของหนังสือ “สงครามอารยะขัดขืน (Civil Disobedience)?”            

 

อย่างไรก็ตาม จากอิฐก้อนแรกที่ได้วางพื้นฐานหลักสูตร พรส. ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๕๑ อย่างมั่นคง ผู้เขียนได้มองเห็นภาพความสำเร็จของหลักสูตร พรส. บนเส้นทางที่จะก้าวเดินไปสู่อนาคตว่า หลักสูตรนี้จะเป็นหลักสูตรที่สำคัญของกองทัพบกและสังคม ซึ่งเปิดพื้นที่สำหรับประชาชนตัวเล็กๆ ที่รักงานด้าน ความมั่นคง ได้มีโอกาสเข้ามาศึกษาและแลกเปลี่ยนประสบการณ์องค์ความรู้การก่อการร้ายและการก่อความไม่สงบ เพื่อนำพาชาติบ้านเมืองให้รอดพ้นจากภัยการก่อการร้ายและการก่อความไม่สงบทุกรูปแบบอย่างสมบูรณ์

 

ด้วยจิตคารวะยิ่ง
พ.อ. บุญรอด ศรีสมบัติ
อจ.อก.สปพ.รร.สธ.ทบ.
๕ ธันวาคม ๒๕๕๖








Copyright 2023 by CGSC Terms Of Use Privacy Statement
Back To Top