๑. หลักการและเหตุผล
สภาพแวดล้อมความมั่นคงของโลกปัจจุบัน หลัง ๑๑ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๔ มิติความมั่นคงถูกครอบงำด้วยบริบทของ “สงครามต่อต้านการก่อการร้าย” (Global War on Terror) ไปทุกส่วนของโลก โดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศมหาอำนาจเดี่ยว ดำเนินนโยบาย ควบคุมยุทธศาสตร์การทำสงครามต่อต้านการก่อการร้ายกับกลุ่มก่อการร้ายระดับโลก เช่น “อัลเคด้า”
ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็หนีไม่พ้นกระแสแนวคิดการทำสงครามไล่ล่ากลุ่มก่อการร้ายที่อยู่ในบัญชีการก่อการร้ายสากลที่จัดทำโดยสหรัฐอเมริกาได้แก่ กลุ่มเจมาห์อิสลามิยาห์, กลุ่มอาบูซายับ และกลุ่มก่อการร้ายใหม่ๆที่พัฒนาศักยภาพมาจากกลุ่มก่อความไม่สงบภายในประเทศ เป็นต้น
ประเทศไทยเป็นสมาชิกอาเซียนที่ประกาศดำเนินนโยบายการต่อต้านการก่อการร้ายภายใต้กรอบขององค์กรสหประชาชาติ กรอบอาเซียน เอเปค และเออาร์เอฟ (ARF) ที่สำคัญมีความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีกับสหรัฐอเมริกาว่าด้วยการต่อต้านการก่อการร้าย ทั้งในระดับนโยบายระหว่างรัฐบาล และในระดับปฏิบัติการระหว่างเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของทั้งสองฝ่าย
ภายหลังเหตุการณ์ปล้นปืน ๔ มกราคม ๒๕๔๗ สถานการณ์การก่อความไม่สงบในพื้นที่ ๓ จชต. ได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ได้ทุ่มเททรัพยากรจำนวนมหาศาลเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว แต่การแก้ไขปัญหาของเจ้าหน้าที่รัฐทุกฝ่ายการแก้ไขปัญหาได้ดำเนินการมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้วความรุนแรงของสถานการณ์มิได้ลดน้อยลง แต่กลับเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและคุณภาพ โดยสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ปัญหายังหาทางออกไม่ได้ก็คือ เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในบางส่วนของภาครัฐ ยังมีความเข้าใจในเรื่องการก่อการร้าย, สงครามต่อต้านการก่อการร้ายไม่มากนัก ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกประเทศที่ส่งผลในระดับสากล และยังคงสับสนเกี่ยวกับ การก่อความไม่สงบ, การป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบที่เป็นปัจจัยภายในประเทศ หรืออาจจะเข้าใจไปคนละทาง จนก่อให้เกิดช่องว่างในการแก้ปัญหาตลอดมา
โรงเรียนเสนาธิการทหารบก สถาบันวิชาการทหารบกชั้นสูง เป็นสถาบันหลักที่ผลิตนายทหารในกองทัพบก เพื่อปฏิบัติหน้าที่เป็นเป็นผู้บังคับบัญชา และฝ่ายอำนวยการในกองทัพบก ที่พร้อมด้วยความรู้ ความสามารถ จริยธรรม คุณธรรม ด้วยการให้การศึกษาในวิชาการด้านการทหาร และความมั่นคงที่ทันสมัย ตามสถานการณ์ของโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาอย่างต่อเนื่อง และจากความไม่สงบที่เกิดขึ้นใน ๓ จชต.นั้น โรงเรียนเสนาธิการทหารบกเห็นว่า หากจะแก้ปัญหาใน ๓ จชต.ให้หมดสิ้นไปโดยเร็วนั้น จะต้องมีความรู้ ความเข้าใจในปัญหานั้นอย่างแท้จริง ตั้งแต่ระดับนโยบาย ลงไปจนถึงระดับผู้ปฏิบัติ ดังนั้นการสร้างองค์ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาใน ๓ จชต. จึงเป็นความสำคัญอย่างยิ่ง โรงเรียนเสนาธิการทหารบกจึงได้ริเริ่มจัดทำ “หลักสูตรการก่อการร้าย, สงครามต่อต้านการก่อการร้าย, การก่อความไม่สงบ และการป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบ สำหรับผู้บริหาร” ขึ้น เพื่อเป็นสื่อกลางขั้นต้นสำหรับผู้บริหารที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐให้สามารถเข้าใจและนำไปประยุกต์ ในการกำหนดกรอบนโยบายในการแก้ปัญหา ๓ จชต. ของทุกส่วนงาน ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน อันจะส่งผลให้การปฏิบัติงานในการแก้ปัญหา ๓ จชต. มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
๒. วัตถุประสงค์
๒.๑ เพื่อให้ผู้เข้ารับการศึกษา มีความเข้าใจในเรื่อง การก่อการร้าย, สงครามต่อต้านการก่อการร้าย, การก่อความไม่สงบ และ การป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบ
๒.๒ เพื่อให้ผู้เข้ารับการศึกษา เข้าใจ และสามารถวิเคราะห์ปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดสงครามก่อการร้ายในระดับโลก ระดับภูมิภาค และระดับชาติ
๒.๓ เพื่อให้ผู้เข้ารับการศึกษา เข้าใจ และ สามารถวิเคราะห์นโยบาย และยุทธศาสตร์การทำสงครามต่อต้านการก่อการร้ายของนานาชาติ กลุ่มประเทศอาเซียนและประเทศไทย
๒.๔ เพื่อให้ผู้เข้ารับการศึกษา เข้าใจ และ สามารถนำองค์ความรู้เกี่ยวกับการก่อการร้ายมากำหนดนโยบายการแก้ปัญหาการก่อความไม่สงบพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้
๓. การดำเนินการ
๓.๑ ระยะเวลาในการศึกษา : ๖ สัปดาห์ (สัปดาห์ละ ๒ วัน)
๓.๑ วิธีการศึกษา
๓.๑.๑ การบรรยายจากผู้ทรงคุณวุฒิ
๓.๑.๒ การเสวนา
๓.๑.๓ การสัมมนากลุ่ม
๓.๒ การประเมินผล
๓.๒.๑ เอกสารวิเคราะห์ปัญหาการก่อการร้ายเป็นรายบุคคล
๓.๒.๒ เอกสารการสัมมนากลุ่ม และการนำเสนอ
๔. ผู้เข้ารับการศึกษา
๔.๑ กลุ่มเป้าหมาย : ข้าราชการทหาร และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานด้านความมั่นคง
๔.๒ คุณสมบัติ :
๔.๒.๑ ข้าราชการทหารระดับผู้อำนวยการกอง (ชั้นยศ พ.อ. (พิเศษ))
๔.๒.๒ ข้าราชการพลเรือน ระดับ ๘ หรือเทียบเท่า
๔.๓ จำนวน : ๓๐ นาย
๕. สถานที่
โรงเรียนเสนาธิการทหารบก
๖. ผู้รับผิดชอบโครงการ
ส่วนปฏิบัติการพิเศษ โรงเรียนเสนาธิการทหารบก
๗. ผลที่คาดว่าจะได้รับ
๙.๑ ผู้เข้ารับการศึกษา มีความเข้าใจและสามารถวิเคราะห์รายละเอียดเกี่ยวกับการก่อการร้าย, สงครามต่อต้านการก่อการร้าย ตั้งแต่ระดับโลก ระดับภูมิภาค และระดับชาติ ทั้งสถานการณ์การก่อการร้ายในที่เกิดในปัจจุบัน และที่คาดว่าจะเกิดในอนาคต
๙.๒ ผู้เข้ารับการศึกษามีการพัฒนาสัมพันธ์แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และสามารถกำหนดนโยบายต่อต้านการก่อการร้ายร่วมกัน ทำให้การแก้ปัญหาการก่อการร้ายเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
๙.๓ ผู้เข้ารับการศึกษา มีความเข้าใจ และสามารถวิเคราะห์รายละเอียดเกี่ยวกับการก่อความไม่สงบ และการป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบใน ๓ จชต.
๙.๔ ผู้เข้ารับการศึกษาสามารถนำผลจากการสัมมนากลุ่มไปประยุกต์ใช้ในการกำหนดนโยบายการแก้ปัญหาการก่อความไม่สงบพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้
๙.๕ ส่งเสริมบูรณาการองค์ความรู้เรื่อง การก่อการร้าย (Terrorism), สงครามต่อต้านการก่อการร้าย (Global War on Terror), การก่อความไม่สงบ (Insurgency) และ การป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบ (Counter Insurgency) มากำหนดเป็นนโยบายการแก้ปัญหาการก่อความไม่สงบในพื้นที่ ๓ จชต. และเป็นการสร้างเครือข่ายในการปฏิบัติงานและองค์กรที่รับผิดชอบงานด้านความมั่นคงของรัฐ
เอกสารวิจัยรองรับหลักสูตร
- พร ภิเศกและคณะ, พันเอก, รายงานการวิจัยเรื่องแนวทางการกระตุ้นการเข้ามอบตัวของขบวนการแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้, ๒๕๕๒
- ดิเรก ดีประเสริฐและคณะ, พันเอก, รายงานการวิจัยเรื่องแนวทางการพัฒนาองค์กรด้านความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้, ๒๕๕๒
หมายเหตุ : ปรับปรุงเมื่อ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๖