CGSC

Once Upon a Time...

Search
Search ×
Menu
  1. หน้าหลัก
  2. ความภาคภูมิใจ
  3. คุณค่าหลักแห่งสถาบัน
  4. e-Curriculum
  5. หลักสูตร
    1. หลักสูตรหลักประจำ
    2. หลักสูตร นบส.
    3. หลักสูตร ศศ.ม.
    4. หลักสูตร พรส.
    5. หลักสูตรอื่นๆ
    6. งานประกันคุณภาพการศึกษา
  6. คลังตำรา
  7. ข่าวสาร
  8. วีดิทัศน์
  9. ติดต่อเรา
 

 


 

หลักสูตรพัฒนาวินัยและความมั่นคงนักบริหาร (พวม.)

สถาบันพัฒนาวินัยและความมั่นคงแห่งชาติ (สวมช.)

 หลักการและเหตุผลสำคัญของหลักสูตร

 


          พัฒนาการของสถานการณ์ด้านความมั่นคงภายหลังการยุติลงของสงครามเย็น มีลักษณะของความเป็นพลวัตรจากภัยคุกคามที่ไร้พรมแดนในหลากหลายรูปแบบ ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งยากในการคาดเดา รวมทั้งการป้องกันและแก้ไขโดยองค์กรด้านความมั่นคงในแบบดั้งเดิมแต่เพียงฝ่ายเดียว  การป้องกันและแก้ไขปัญหาความมั่นคงในรูปแบบใหม่นี้ จำเป็นจะต้องได้รับความร่วมมือจากองค์กรต่าง ๆ หลากหลาย ภาคส่วน ที่มีความเชี่ยวชาญในงานหลากหลายสาขา รวมทั้งความร่วมมือจากภาคประชาชนที่จะต้องเข้ามาร่วมเป็นเครือข่ายกับภาครัฐ เพื่อร่วมมือกันสร้างภูมิคุ้มกันให้กับสังคมและเข้าแก้ปัญหาต่าง ๆ ร่วมกันได้อย่างประสานสอดคล้อง
        แนวความคิดใหม่ด้านความมั่นคงที่เปลี่ยนไปนี้ มีมิติของความซับซ้อนนอกจากทางด้านการทหารที่เน้นการป้องกันประเทศและอำนาจอธิปไตยแล้ว  ยังมีทั้งในทางการเมือง  เศรษฐกิจ สังคมจิตวิทยา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และความมั่นคงของมนุษย์  อีกทั้งยังมีระดับที่ต้องทำความเข้าใจและรู้เท่าทันต่อปัญหาต่าง ๆ ตั้งแต่ระดับโลก  ระดับภูมิภาค  ระดับประเทศ  ระดับสังคมหรือชุมชน  ระดับครอบครับ และระดับตัวบุคคล ซึ่งเป็นการขยายการทำความเข้าใจต่อปัญหาความมั่นคงทั้งในทางกว้างและทางลึก (Broadening and Deepening Security) ในหลากหลายประเด็นมากยิ่งขึ้น

        กองทัพซึ่งเป็นองค์กรนำในการแก้ปัญหาด้านความมั่นคงของชาติมาแต่เดิม  ไม่อาจแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่หลากหลายดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพแต่เพียงลำพัง  การสร้างการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน (Public Involvement) ตั้งแต่ภาวะปกติ เพื่อสร้างจิตสำนึกของความร่วมมือและความไว้วางใจซึ่งกันและกัน (Spirit of Cooperation and Trust) ระหว่างองค์กรที่เกี่ยวข้องกับภาคประชาชน จึงเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่สุดในการแก้ปัญหาความมั่นคงของชาติแบบองค์รวมในอนาคต  เพื่อพัฒนาภาคประชาชนให้เกิดวินัยและจิตสำนึกให้ถึงพร้อม  เพื่ออาสาเข้าช่วยเหลือพัฒนาสังคมและประเทศชาติ  และมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาทั้งในภาวะปกติและฉุกเฉินได้ (Citizen Corps)

        พล.อ. ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ร่วมกันน้อมนำพระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว  ไปสู่การปฏิบัติให้เกิดเป็นรูปธรรมในการสร้างพื้นฐานที่สำคัญแก่สังคมไทย ๔ ประการ คือ การมีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง  การมีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคงเข้มแข็ง  รู้จักแยกแยะสิ่งผิดชอบ  การมีอาชีพ มีงานทำ  และการเป็นพลเมืองดีมีจิตอาสา

        คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา สภาปฏิรูปประเทศ (สปท.)  ได้เสนอให้กองทัพบก โดยมูลนิธิโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ร่วมกับมูลนิธิอาชีวเวชศาสตร์ไทย จัดตั้งสถาบันพัฒนาวินัยและความมั่นคงแห่งชาติ (สวมช.) ขึ้น ในการทำหน้าที่อบรมและพัฒนาภาคประชนทั่วไป เพื่อสร้างคนไทยให้เป็นพลเมืองดี วินัยเด่น ภูมิใจในชาติ และรับผิดชอบต่อครอบครัว  ชุมชน สังคม และประเทศชาติ  โดยเน้นในเรื่องวินัยและความมั่นคง เพื่อร่วมในการปฏิรูปและการขับเคลื่อนประเทศให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติต่อไป ซึ่งปัจจุบัน ได้เปิดการศึกษาแล้ว ­๒ รุ่น

 

วัตถุประสงค์ของหลักสูตร

หลักสูตรพัฒนาวินัยและความมั่นคงนักบริหาร สถาบันพัฒนาวินัยและความมั่นคงแห่งชาติ มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ ดังต่อไปนี้

        ๑. เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องแนวคิดทางด้านความมั่นคง  เกิดความตระหนักรู้ตามบทบาทและหน้าที่ของตนเอง ในการมีส่วนร่วมเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงแห่งชาติ

        ๒. เพื่อเสริมสร้างให้ผู้เข้ารับการอบรม มีทักษะของการเป็นผู้นำ เป็นพลเมืองดี มีวินัย มีความรักชาติ   มีความรับผิดชอบ และมีความเสียสละ เกิดจิตสำนึกที่ถึงพร้อมเพื่ออาสาเข้าช่วยเหลือพัฒนาสังคมและประเทศชาติ และมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาทั้งในภาวะปกติและฉุกเฉินได้

        ๓. เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมจากประชาชนทุกภาคส่วน  ในการเข้าร่วมแก้ปัญหาความมั่นคงของชาติตั้งแต่ในภาวะปกติ รวมทั้งเกิดความตระหนักและจิตสำนึกของความร่วมมือและไว้วางใจซึ่งกันและกันระหว่างองค์กรภาครัฐและภาคประชาชน

        ๔. เพื่อสร้างเครือข่ายมวลชนด้านความมั่นคงที่เข้มแข็งระหว่างกองทัพ และภาคพลเรือน เพื่อร่วมส่งเสริมและสนับสนุนการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศในด้านต่าง ๆ  รวมทั้งส่งเสริมภาพลักษณ์และการสนับสนุนภารกิจของกองทัพบก

 

กรอบแนวคิดในการฝึกอบรม

       ๑. แนวความคิดความมั่นคงรูปแบบใหม่ที่เน้นในเรื่องทำความเข้าใจต่อปัญหาความมั่นคง ทั้งในทางกว้างและทางลึก (Broadening and Deepening Security) ในหลากหลายมิติ หลากหลายประเด็น และหลากหลายระดับ

       ๒. แนวความคิดเรื่องการปลูกฝังและเสริมสร้างทักษะความเป็นผู้นำ  ความมีวินัย  ความเสียสละ และอุดมการณ์ความรักชาติ แนวคิดของหลักการ STAR STEMS รวมทั้งแนวคิดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

        ๓. แนวคิดเรื่องบทบาทภาคพลเรือนในการให้การสนับสนุนกองทัพ ทั้งในยามปกติและยามฉุกเฉิน

        ๔. แนวความคิดการปฏิบัติและเห็นปัญหาจากสภาพความเป็นจริง

        ๕. กรอบแนวคิดอื่น ๆ ตามที่ สวมช. กำหนด

 

คุณสมบัติของผู้เข้ารับการฝึกอบรม

        ๑. สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีขึ้นไป

        ๒. มีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี

        ๓. ไม่เคยต้องโทษ หรือ อยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีทางอาญา (ยกเว้นกระทำโดยประมาท)

        ๔. ยอมรับ และปฏิบัติตามกฎระเบียบที่ทางสถาบันกำหนด 

        ๕. ผ่านการสัมภาษณ์ และพิจารณาจากคณะกรรมการของสถาบัน

        ๖. ถ้ามีคุณสมบัตินอกเหนือจากที่ได้กล่าวมา ให้อยู่ในดุลยพินิจของคณะกรรมการของสถาบัน

 

ระยะเวลาการฝึกอบรม 

        ๑. ห้วงการฝึกอบรม ๑๕ สัปดาห์

        ๒. จัดการฝึกอบรม ๒ วัน/สัปดาห์

  • วันเสาร์    - ทำการฝึกอบรมเต็มวัน ตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๖.๐๐ น.
  • วันอาทิตย์ - ทำการฝึกอบรมครึ่งวันเช้า ตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๒.๐๐ น.
  • ตารางการอบรมสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม

        ๑. จัดการศึกษาอบรมอย่างมีมาตรฐาน และให้สามารถเทียบโอนหน่วยกิตไปยังหลักสูตรศิลปศาสตร  มหาบัณฑิต (ศศ.ม.(ความมั่นคงศึกษา)) ของโรงเรียนเสนาธิการทหารบกได้

 

ผู้บรรยาย/ผู้ฝึกสอน ในการฝึกอบรม

๑. คณาจารย์จากโรงเรียนเสนาธิการทหารบก

๒. ผู้ทรงคุณวุฒิจากกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ กองบัญชาการกองทัพไทย สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

๓. ผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานภาครัฐ และจากภาคเอกชน

๔. ผู้ทรงคุณวุฒิอื่น ๆ ตามที่สถาบันกำหนด

 

การสำเร็จการฝึกอบรม

        ๑. ต้องมีผลการเข้าร่วมฝึกอบรมไม่น้อยกว่า ร้อยละ ๗๐ ตามรายวิชาที่ทำการฝึกอบรม

        ๒. ผู้ที่มีผลการฝึกอบรมไม่ถึงร้อยละ ๗๐ สามารถเข้ารับการอบรมซ่อมเสริมในวิชาที่ขาดหายไปและสำเร็จการศึกษาได้พร้อมรุ่นถัดไปได้

        ๓. ผู้ที่สำเร็จการศึกษาจะได้รับการประดับเข็มเชิดชูเกียรติ และประกาศนียบัตรจากสถาบันพัฒนาวินัยและความมั่นคงแห่งชาติ 

        ๔. ผู้ที่สำเร็จการศึกษาในหลักสูตรนี้ สามารถเทียบโอนหน่วยกิตเพื่อไปศึกษาในระดับปริญญาโท หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ศศ.ม.(ความมั่นคงศึกษา)) โรงเรียนเสนาธิการทหารบก จำนวน ๖ หน่วยกิต  โดยจะต้องจัดทำรายงาน/เรียน เพิ่มเติม  ตามเงื่อนไขที่กำหนดในหลักสูตรดังกล่าว

 

หน่วยงานรับผิดชอบ และสถานที่ในการจัดการศึกษา

๑. สถาบันพัฒนาวินัยและความมั่นคงแห่งชาติ (สวมช.) ได้มอบหมายให้ โรงเรียนเสนาธิการทหารบก

เป็นผู้รับผิดชอบและดำเนินการฝึกอบรม

๒. สถานที่ฝึกอบรม  :  อาคารเสนาธิปัตย์ โรงเรียนเสนาธิการทหารบก ถนนพระรามที่ ๕

แขวงถนนนครไชยศรี  เขตดุสิต  กทม.ฯ  ๑๐๓๐๐ 






















 
Copyright 2023 by CGSC Terms Of Use Privacy Statement
Back To Top