
จอมพลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ ๑๐ ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงเป็นพระราชโอรส พระองค์ที่ ๔ ในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ประสูติในพระบรมมหาราชวัง ณ วันเสาร์ แรม ๙ ค่ำ เดือน ๓ ปีมะเมีย จัตวาศกจุลศักราช ๑๒๔๔ ตรงกับวันที่ ๓ มีนาคม พ.ศ.๒๔๒๕ เมื่อทรงพระเยาว์ ได้ทรงศึกษาวิชาหนังสือไทยกับพระยาศรีสุทรโวหาร(น้อย) และ ขุนบำนาญ วรวัฒน์ (สิงโต)ในพระบรมมหาราชวัง ครั้นต่อมาเมื่อได้มีการจัดตั้งโรงเรียนราชกุมารขึ้นในพระบรมมหาราชวังแล้ว ได้ทรงเข้าโรงเรียนนี้ และทรงศึกษาทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ (ครูสอนภาษาอังกฤษ คือ มิสเตอร์ วูลสเลย์ และ มิสเตอร์ เยคอลฟิลค์เยมส์)
ครั้น เมื่อทรงพระชนมายุได้ ๑๔ ชันษา คือ ในปี พ.ศ.๒๔๓๙ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เสด็จออกไปศึกษาวิชาในทวีปยุโรป โดยมี จอมพลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาภานุพันธุวงษ์วรเดช เชิญเสด็จไปถึงทวีปยุโรป เมื่อเสด็จถึงแล้ว ได้ทรงเข้าศึกษาวิชาอยู่ ณ ประเทศอังกฤษ
ในปีพระพุทธศักราช ๒๔๔๐ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จประพาส ยุโรป ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นนักเรียนนายร้อยทหารบกของประเทศสยาม แต่คงให้ทรงศึกษาวิชาอยู่ในประเทศอังกฤษไปก่อน แล้วจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ไปทรงศึกษาวิชาในประเทศรัสเซีย ตามที่สมเด็จพระเจ้านิโคลัส ที่ ๒ จักรพรรดิรัสเซีย ได้ขอไว้ จนกระทั่งเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๔๔๑ จึงได้เสด็จไปประเทศรัสเซีย เพื่อทรงศึกษา ณ โรงเรียนทหารต่อไป ทางประเทศรัสเซียได้ถวายการต้อนรับอย่างสมพระเกียรติ ทั้งได้มอบให้ผู้บัญชาการโรงเรียนมหาดเล็ก และนายร้อยเอก นายทหารม้ารักษาพระองค์ (พล.ต.เคานต์ เค็ลแลร์ และ ร.อ. วัลเด มาร์ ฆรูลอฟฟ์) เป็นนายทหารช่วยเหลือในการศึกษา และคอยถวายความสะดวกดูแลทุกประการ
ในการศึกษาครั้งนี้ สมเด็จพระจักรพรรดิได้รับสั่งให้เข้าศึกษาวิชาในโรงเรียนมหาดเล็ก ซึ่งเป็นโรงเรียนนายทหารบกที่มีอยู่ ๙ ชั้น ให้สอบไล่ได้ในกำหนด ๔ ปี เพราะฉะนั้น ในการศึกษาชั้นต้น ๆ จึงจำเป็นจะต้องให้ได้รับการศึกษาวิชา เพื่อเตรียมพระองค์เข้าเป็นนักเรียนชั้น ๖ ทีเดียว คือ เริ่มจัดครูมาสอนในที่ประทับไปพลางก่อนแต่บัดนั้น ต่อมา จึงได้เริ่มทรงศึกษา เพื่อให้เป็นไปตามกำหนด ๔ ปี (คือให้ได้ชั้น ๙) เมื่อตรงตามกำหนดแล้ว จากผลการสอบได้ ทรงสอบไล่ได้เป็นที่ ๑ ของนักเรียนทั้งหลายในโรงเรียนนั้น เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๕ และทรงเข้าศึกษาในวิทยาลัยทหาร ทรงสอบไล่ได้เป็นที่ ๑ ของโรงเรียนอีกครั้ง เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๘ สมเด็จพระเจ้านิโคลัสที่ ๒ ทรงพอพระทัยยิ่ง ได้ทรงแต่งตั้งให้เป็น พันเอกพิเศษ ในกองทัพบกรัสเซีย และเป็นนายทหารพิเศษในกรมทหารม้าฮุสซาร์ ของสมเด็จพระจักรพรรดิ กับพระราชทานสายสะพายเซนต์อันเดรย์ ซึ่งเป็นตราสูงสุดของประเทศรัสเซียสมัยนั้นโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ถือว่า พระองค์เป็นผู้ทรงก่อตั้งวางรากฐานโรงเรียนนี้มาแต่เริ่มแรก และเมื่อได้สร้าง " อาคารประภาสโยธิน " ซึ่งเป็นอาคารถาวรของโรงเรียนเสนาธิการทหารบกแล้ว จึงได้ถือโอกาสสร้าง และอัญเชิญอนุสาวรีย์พระองค์ มาประดิษฐานคู่กับอาคารหลังนี้ เพื่อเป็นมิ่งขวัญ และได้สักการะรำลึกถึงพระเกียรติคุณของพระองค์ ที่ได้ทรงก่อกำเนิดจัดตั้งโรงเรียนเสนาธิการทหารบก และได้จัดพิธีเฉลิมฉลองพร้อมกับอาคารประภาสโยธิน เมื่อวันที่ ๓ เมษายน พ.ศ.๒๕๑๓ อันเป็นปีที่ ๖๐ ของการสถาปนาโรงเรียนเสนาธิการทหารบก นับตั้งแต่นั้นมา ในวันที่ ๓ เมษายน ของทุกปี บรรดาศิษย์เก่าของสถาบันแห่งนี้ จะพากันมาวางพวงมาลาถวายสักการะแด่พระอนุสาวรีย์ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระเกียรติคุณ และพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน เป็นประจำ รวมทั้งตราเซนต์วลาดิเมียร์ อีกด้วย
เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาจากรัสเซียแล้ว ทรงเข้ารับราชการครั้งแรกเป็น ผู้ช่วยผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ กระทรวงกลาโหม เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๙ และต่อมาในปีเดียวกันนี้ ทรงได้รับตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการโรงเรียนทหารบกอีกตำแหน่งหนึ่ง ต่อมา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๒ ทรงเป็นผู้รั้งหน้าที่เสนาธิการทหารบก และได้ทรงเป็นเสนาธิการทหารบกในปีเดียวกันนั้นเอง พร้อมกับทรงรั้งหน้าที่ เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบก (เปลี่ยนการจัดโรงเรียนทหารบก เป็น กรมยุทธศึกษาทหารบก) จนถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๖ และในปี พ.ศ. ๒๔๕๓ ทรงเป็นผู้บังคับการกรมทหารราบที่ ๑ มหาดเล็กรักษาพระองค์ อีกตำแหน่งหนึ่งด้วย
จอมพลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ เป็นผู้ทรงพระปรีชาสามารถ เฉียบแหลม ทั้งทางด้านการศึกษา และทางด้านรับราชการในบ้านเมือง พระองค์ได้ทรงกระทำคุณประโยชน์ในการสร้างความเจริญของกองทัพ และส่วนราชการอื่น ๆ หลายแห่ง อาทิเช่น เมื่อทรงรับตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ ก็ได้ทรงช่วย จอมพลพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช ซึ่งในขณะนั้น เป็นผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ ดำริวางการงานต่าง ๆ ไว้ให้เป็นระเบียบเรียบร้อยยิ่งขึ้นเเป็นอันมาก
เมื่อทรงรับตำแหน่ง ผู้บัญชาการโรงเรียนทหารบก และเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบก ก็ได้ทรงวางระเบียบการศึกษา ขยายรูปโครงออกให้กว้าง ขวางทันสมัย คล้ายกับว่าจะทรงสร้างโรงเรียนทหารบกชึ้นใหม่
ในขณะที่ทรงรับตำแหน่งเสนาธิการทหารบก อันเป็นตำแหน่งสำคัญในการรบ ก็ได้ทรงปรับปรุงงานเสนาธิการให้กว้างขวางเพิ่มขึ้น ทรงริเริ่มจัดตั้งโรงเรียนเสนาธิการ เพื่อให้การศึกษาแก่นายทหารที่จะทำหน้าที่ฝ่ายเสนาธิการบรรจุตามงานใน หน้าที่เสนาธิการที่ได้ปรับปรุงขึ้นอย่างกว้างขวางนี้ ทรงจัดการวาง แนวทางหลักสูตรการศึกษาโรงเรียนเสนาธิการ และการคัดเลือกนายทหารที่มีคุณสมบัติอันเหมาะสมเข้ารับการศึกษา นอกจากนี้ ยังทรงเรียบเรียงตำรา เรื่อง " พงศาวดารยุทธศิลปะ " และ เอกสารอื่น ๆ ที่ใช้เป็นตำราศึกษาในโรงเรียนเสนาธิการยุคต้นอีกจำนวนมาก ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ได้นำมาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาของโรงเรียนเสนาธิการสืบจนถึงปัจจุบัน
เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๐ ด้วยพระปรีชาสามารถของพระองค์ ในการปรับปรุงให้ข้าราชการทหารเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว จึงทำให้สามารถจัดส่งทหารอาสาไปร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ ๑ ในทวีปยุโรป ในปี พ .ศ.๒๔๖๑ ทรงก่อตั้งกองบินทหารบก ซึ่งต่อมา ได้รับการปรับปรุงขยับขยายเป็นกองทัพอากาศ และทรงริเริ่มก่อสร้างค่ายจักรพงษ์ ที่จังหวัดปราจีนบุรี
นอกจากนั้น พระองค์ยังได้เป็นผู้กำกับการก่อสร้างสถานที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งเป็นที่ตั้งสภากาชาดสยาม (รับต่อจาก จอมพล พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช ซึ่งสิ้นพระชนม์เสียก่อนการก่อสร้างสำเร็จ) เมื่อได้ตั้งเป็นกาชาดสยามขึ้นแล้ว พระองค์ยังได้ทรงรับตำแหน่งเป็นอุปนายกผู้อำนวยการ ทรงดำริวางระเบียบการ และสร้างความเจิญให้แก่สภากาชาดโดยรอบด้าน จนเป็นที่หวังได้แน่นอนว่าสภากาชาดได้เจริญเป็นประโยชน์ในการเกื้อกูล ประชาชนซึ่งเจ็บไข้ได้อย่างดีต่อไป
จากที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น จะเห็นได้ว่า พระองค์ต้องทรงรับการงานต่าง ๆ อย่างมากมาย และต้องทรงเหน็ดเหนื่อยตลอดมา ยากที่จะทรงหาเวลาพักผ่อนได้อย่างพอเพียง จนกระทั่งถึง เดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๔๖๓ พระอง๕ก็ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้ไปพักผ่อนพระวรกายเที่ยวทางไกลได้ พระองค์พร้อมพระชายา และพระโอรส จึงได้เสด็จไปประพาสทางฝั่งทะเลตะวันตก เมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๖๓
ครั้นเมื่อพระองค์เสด็จไปได้วันหนึ่ง ก็ประชวรไข้ไปตลอดทาง จนวันที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๖๓ ถึงสิงคโปร์ พระอาการยิ่งกำเริบหนักขึ้น จนถึงวันที่ ๑๓ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๖๓ เวลา ๑๓ นาฬิกา ๕๐ นาที พระองค์ได้เสด็จทิวงคต ศิริพระชนมายุได้ ๓๗ พรรษา ๓ เดือน ๑๐ วัน
โรงเรียนเสนาธิการทหารบก ถือว่า พระองค์เป็นผู้ทรงก่อตั้งวางรากฐานโรงเรียนนี้มาแต่เริ่มแรก และเมื่อได้สร้าง " อาคารประภาสโยธิน " ซึ่งเป็นอาคารถาวรของโรงเรียนเสนาธิการทหารบกแล้ว จึงได้ถือโอกาสสร้าง และอัญเชิญอนุสาวรีย์พระองค์ มาประดิษฐานคู่กับอาคารหลังนี้ เพื่อเป็นมิ่งขวัญ และได้สักการะรำลึกถึงพระเกียรติคุณของพระองค์ ที่ได้ทรงก่อกำเนิดจัดตั้งโรงเรียนเสนาธิการทหารบก และได้จัดพิธีเฉลิมฉลองพร้อมกับอาคารประภาสโยธิน เมื่อวันที่ ๓ เมษายน พ.ศ.๒๕๑๓ อันเป็นปีที่ ๖๐ ของการสถาปนาโรงเรียนเสนาธิการทหารบก นับตั้งแต่นั้นมา ในวันที่ ๓ เมษายน ของทุกปี บรรดาศิษย์เก่าของสถาบันแห่งนี้ จะพากันมาวางพวงมาลาถวายสักการะแด่พระอนุสาวรีย์ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระเกียรติคุณ และพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านเป็นประจำ