Once Upon a Time...
โรงเรียนเสนาธิการทหารบก มีหน้าที่ให้การฝึกและการศึกษาแก่นายทหารสัญญาบัตรของกองทัพบกนอกกองทัพบก และบุคคลพลเรือนทั้งทางยุทธวิธี เสนาธิการกิจ และการช่วยรบระดับกองพลขึ้นไป เพื่อให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ผู้บังคับบัญชาและฝ่ายอำนวยการได้ ตลอดจนวิทยาการชั้นสูงระดับบัณฑิตศึกษา และหลักสูตรอื่นๆตามที่กองทัพบกมอบหมายร่วมมือในการค้นคว้าพัฒนา ตามโครงการพัฒนาหลักนิยมของหน่วยระดับกองพลขึ้นไป
สรุปเหตุการณ์สำคัญ รอบ ๑๐๙ ปี
เริ่มต้น ก่อตั้ง
ก่อนเปิด การศึกษา
ก่อนเปลี่ยนแปลง การปกครอง
หลังเปลี่ยนแปลง การปกครอง
หลังสงครามโลก ครั้งที่สอง
หลังสงครามโลก ครั้งที่ ๒ ตอนที่ ๑
หลังสงครามโลก ครั้งที่ ๒ ตอนที่ ๒
หลังสงครามโลก ครั้งที่ ๒ ตอนที่ ๓
หลังสงครามโลก
ครั้งที่ ๒ ตอนที่ ๔
นับตั้งแต่ วันที่ ๓ เมษายน พ.ศ.๒๔๕๒ ซึ่งเป็นวันที่กองทัพบกได้ออกคำสั่งให้เปิดการศึกษาของนักเรียนเสนาธิการทหารบก ชุดที่ ๑ เป็นต้นมา จนถึงวันที่ ๓ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๒ ก็ครบรอบ ๑๐๐ ปี ของการสถาปนาโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาหลักของกองทัพบกสถาบันหนึ่ง จากวันสถาปนามาจนถึงปัจจุบัน โรงเรียนเสนาธิการทหารบก ได้ผลิตนายทหารชั้นมันสมองให้กับหน่วยราชการในกองทัพเป็นจำนวนมากรวมทั้งการ สนับสนุนการผลิต ฝอ.แก่เจ้าหน้าที่จากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย (หลักสูตรฝ่ายอำนวยการกองอาสารักษาดินแดน) และในอดีตก็ได้สนับสนุนการผลิต ฝอ. แก่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(หลักสูตร ฝอ.ตร.และหลักสูตรฝอ.ตร.(ตชด.)) อีกด้วย ตลอดระยะเวลาอันยาวนานที่ผ่านมานี้ โรงเรียนเสนาธิการทหารบก ได้รับการพัฒนามาโดยลำดับ ทั้งในด้านการจัดหลักสูตร การจัดการศึกษา ตำรา สถานที่ และสิ่งอำนวยความสะดวกทางการศึกษา ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจ และนโยบายที่ได้รับมอบสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ สอดคล้องกับพื้นฐานความรู้ของนายทหารนักเรียนที่มีอยู่แล้วก่อนเข้ารับการศึกษา รวมทั้งให้มีมาตรฐานสอดคล้องกับวิวัฒนาการทางด้านวิชาการตามยุคตามสมัย จากการพัฒนาการดังกล่าว สามารถแบ่งวิวัฒนาการของโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ได้เป็น ๓ สมัยด้วยกัน คือ.- ๑. สมัยก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เริ่มตั้งแต่สถาปนาโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ในปี พ.ศ.๒๔๕๒ จนถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี พ.ศ.๒๔๗๕ ๒. สมัยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๗๗(รร.สธ.ทบ.ถูกยุบเลิก ๒ปี ๒๔๗๕-๗๖) จนถึงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ปี พ.ศ.๒๔๘๘ ๓. สมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๘๙ จนถึงปัจจุบัน อันเป็นสมัยที่ได้มีการพัฒนาปรับปรุงไปในแนวทางของโรงเรียนเสนาธิการทหารบกต่างประเทศหลายประเทศ
ก่อนที่จะเปิดการศึกษาเป็นหลักสูตรที่แน่นอน ตั้งแต่ชุดที่ ๑ นั้น ได้มีการเปิดการศึกษาทดลอง และฝึกหน้าที่ฝ่ายเสนาธิการทหารบกขึ้น เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๔๔๑ เพื่อรับผิดชอบงานด้านการยุทธศึกษา และการสอนวิชาทหารบก การแก้ไขและกำหนดแบบธรรมเนียมทหาร การติดตามและรวบรวมวิชาการทหารต่างประเทศ และรวบรวมแผนที่ภูมิประเทศ ซึ่งหลังจากนั้น กรมเสนาธิการทหารบก ก็ได้มีการพัฒนาโดยลำดับ จนถึงปี พ.ศ.๒๔๔๖ จอมพล สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอเจ้าฟ้า กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ยังดำรงพระยศเป็น พลตรี ทรงดำรงตำแหน่ง เสนาธิการทหารบก ได้ทรงสั่งการให้ทำการคัดเลือกนายทหารจากกรมกองต่าง ๆ เข้ามาสำรองราชการในกรมเสนาธิการทหารบก เพื่อเข้ามาศึกษาทดลองทำงานในหน้าที่ฝ่ายเสนาธิการ เมื่อครบกำหนดแล้ว ก็มีการพิจารณาคัดเลือกผู้มีความเหมาะสม ให้เข้ารับราชการประจำในกรมเสนาธิการทหารบกต่อไป การคัดเลือกนายทหารเข้ารับการศึกษาทดลองทำงานในหน้าที่ฝ่ายเสนาธิการนี้ ได้กระทำทั้งสิ้น ๓ ครั้ง ดังนี้.- ครั้งที่ ๑ ใช้ระยะเวลาการศึกษาทดลอง ๔ เดือน ระหว่างเดือนมิถุนายน ถึงเดือนตุลาคม ๒๔๔๖ มีผู้เข้ารับการศึกษาทดลอง ๖ นาย มีผู้เหมาะสมได้รับการบรรจุเข้าประจำกรมเสนาธิการทหารบก ๕ นาย ครั้งที่ ๒ ใช้ระยะเวลาศึกษาทดลอง ๙ เดือน ระหว่างเดือนธันวาคม ๒๔๔๖ ถึงเดือนกันยายน ๒๔๔๗ มีผู้เข้ารับการศึกษาทดลอง ๙ นาย มีผู้ได้รับการบรรจุเข้าประจำกรมเสนาธิการทหารบก ๓ นาย ครั้งที่ ๓ ในปี ๒๔๔๘ มีการปรับปรุงการศึกษาให้มีระยะเวลาการศึกษาที่แน่นอนขึ้น โดยกำหนดการศึกษาวิชาการ สัปดาห์ละ ๒ ครั้ง คือ วันอังคาร และ วันศุกร์ ตั้งแต่เวลา ๑๑.๐๐ น. ถึง ๑๗.๐๐ น. มีผู้เข้ารับการศึกษา ๖ นาย หลังจากสำเร็จการศึกษา ไปทำหน้าที่และเป็นเหล่าเสนาธิการ ๒ นาย การศึกษาทดลองทั้ง ๓ ครั้งดังกล่าว ปรากฏว่าได้ผลดี จึงนับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นไปสู่การศึกษาหลักสูตรเสนาธิการทหารบกอย่างจริง จังในโอกาสต่อมา
นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๔๑ เป็นต้นมา กรมเสนาธิการทหารบก ได้มีการพัฒนามาโดยลำดับ จนกระทั่งในปี พ.ศ.๒๔๕๒ ซึ่งขณะนั้น จอมพล สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เมื่อยังทรงพระยศพลตรีเป็นเสนาธิการทหารบก ได้โปรดให้ พันโท หลวงภูวนารถ นฤบาล ซึ่งเป็นผู้ช่วยเสนาธิการทหารบก จัดทำหลักสูตรการศึกษา เพื่อใช้กับ " นายทหารฝึกหัดราชการกรมเสนาธิการทหารบก " ขึ้นใหม่ โดยกำหนดให้มีการสอนเป็นภาค ๆ และจัดระเบียบการศึกษา ตลอดจนควบคุมดูแลการศึกษาของนายทหารนักเรียนในขณะเข้ารับการศึกษาในโรงเรียน ด้วย เมื่อเรียบร้อยแล้ว ในวันที่ ๓ เมษายน ๒๔๕๒ กองทัพบกจึงมีคำสั่งให้คัดเลือกนายทหารเข้ามาศึกษา เป็นชุดที่ ๑ จึงได้ยึดถือสืบเนื่องกันต่อมาว่า โรงเรียนเสนาธิการทหารบก ได้เริ่มกำเนิดมาตั้งแต่วันนั้น ในสมัยก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองนี้ ได้เปิดการศึกษาทั้งสิ้น รวม ๒๑ ชุด ใช้ระยะเวลาการศึกษาตามหลักสูตร ๒ ปี ในตอนต้นหลักสูตรการศึกษา ไม่ปรากฏหลักฐานเด่นชัด คาดว่าใช้หลักสูตรทดลองการสอนวิชา และฝึกหัดนายทหารฝึกหัดราชการกรมเสนาธิการทหารบก ซึ่งประกอบด้วยวิชาสามัญ วิชาทหาร และการฝึกหัด หลักสูตรการศึกษาได้รับการพัฒนามาโดยลำดับ จนกระทั่งในหลักสูตรการศึกษา ชุดที่ ๕ ได้เพิ่มวิชาภาษาพม่า ลาว และ เขมร และมีการไปดูการซ้อมรบปลายปี ซึ่งต่อมาในชุดที่ ๗ ได้ปรับปรุงให้มีการศึกษาภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส และ เขมร และแบ่งการศึกษาออกเป็น ปีที่ ๑ และ ๒ อย่างแน่ชัด จนกระทั่งในชุดที่ ๑๖ จึงมีการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรการศึกษาครั้งสำคัญ นั่นก็คือ จัดให้มีการไปฝึกงานในหน่วย ในปลายปีที่ ๑ เพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์ก่อนการศึกษาในปีที่ ๒ ในชุดที่ ๑๘ เริ่มให้มีการดูงานหน่วยงานพลเรือน เช่น ดูงานการประปา กิจการกรมไปรษณีย์โทรเลข โรงงานทำกระดาษ โรงไฟฟ้าหลวง เป็นต้น ต่อมาในชุดที่ ๑๙ ได้เปิดโอกาสให้เลือกเรียนภาษาเพียงภาษาเดียว ปรากฏว่าทั้งชุดเลือกเรียนภาษาอังกฤษทั้งหมด การเข้าศึกษาในโรงเรียนเสนาธิการทหารบก นับว่าเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น โรงเรียนเสนาธิการทหารบก เป็นสถาบันการศึกษาสูงสุดของกองทัพ ดังนั้น จึงมีการแข่งขันเพื่อเข้ารับการศึกษาในชุดต่าง ๆ ค่อนข้างสูง วิธีการคัดเลือกผู้เข้ารับการศึกษาในช่วงนี้ ใช้วิธีให้หน่วยสอบคัดเลือกในขั้นต้น แล้วส่งให้กรมเสนาธิการทหารบกสอบคัดเลือก ตามจำนวนที่กำหนดเป็นส่วนรวมจากจำนวนที่หน่วยส่งมาสอบคัดเลือก ปรากฏว่ามีผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเข้ารับการศึกษา ในอัตราส่วนโดยประมาณ ๑ ต่อ ๒ สำหรับในชุดที่ ๑๐ มีอัตราส่วนประมาณ ๑ ต่อ ๕ นับว่ามีการแข่งขันที่สูงมาก และในชุดที่ ๖ ไม่มีการสอบคัดเลือก แต่ให้หน่วยคัดเลือกมาเข้ารับการศึกษาตามจำนวนที่กำหนดให้ ในการคัดเลือกนายทหารเข้ามารับการศึกษานี้ ปรากฏว่าในชุดที่ ๗ หน่วยคัดเลือกมาไม่ดี ทำให้สอบตกหมดทั้งชุด วิธีการคัดเลือกก็ได้พัฒนาปรับปรุงมาตามลำดับเช่นเดียวกับการพัฒนาในด้าน อื่น ๆ การพัฒนาวิธีการคัดเลือกที่สำคัญในยุคนี้ ก็คือ การจัดทำหลักสูตรสอบคัดเลือก เพื่อให้นายทหารที่ประสงค์จะสอบเข้าได้เตรียมตัวล่วงหน้า ซึ่งได้เริ่มกำหนดขึ้นเป็นครั้งแรก สำหรับการสอบเข้าศึกษาในชุดที่ ๑๐ ในด้านผลการศึกษา ปรากฏว่า ในชุดที่ ๑ ถึงชุดที่ ๗ สอบตกมากกว่าได้ แต่ตั้งแต่ชุดที่ ๘ เป็นต้นมา ผลการศึกษาดีขึ้นมาก เนื่องจากมีการกวดขันวิธีการคัดเลือกให้ได้บุคคลที่มีความรู้ และความสามารถดีจริง ๆ เข้ามารับการศึกษา นอกจากนี้ ในด้านการจูงใจให้เกิดความขยันหมั่นเพียรในการศึกษานั้น กองทัพบกได้กำหนดระเบียบให้ผู้สอบได้ที่ ๑ ของแต่ละชุด ไปดูงานต่างประเทศไม่น้อยกว่า ๓ ปี ตั้งแต่ชุดที่ ๘ จนถึงชุดที่ ๑๓ และกำหนดให้ผู้ที่สอบได้ร้อยละ ๗๐ ขึ้นไป ได้เลื่อนเงินเดือน ๑ ขั้น และได้ร้อยละ ๘๕ ขึ้นไป ได้เลื่อนเงินเดือน ๒ ขั้น จนทำให้ในชุดที่ ๘ จนถึงชุดที่ ๑๙ มีการศึกษากันอย่าง " เป็นล่ำเป็นสัน " มากที่สุดในสมัย ราชาธิปไตย สำหรับสถานการณ์บ้านเมืองนั้น มีผลกระทบต่อการศึกษาในโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ในยุคนี้ที่สำคัญ ๆ จำนวน ๒ ครั้ง คือ การเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.๒๔๕๔ ทำให้นายทหารนักเรียนในชุดที่ ๒ จบการศึกษาเพียงนายเดียว และชุดที่ ๓ ทั้งหมดถูกย้ายกลับต้นสังกัดเดิม หรือถอดยศก่อนจบการศึกษา และส่งผลกระทบให้เกิดความขาดแคลนนายทหารฝ่ายเสนาธิการ จึงต้องเร่งรัดชุดที่ ๔ ให้จบการศึกษาภายในปีเดียว ต่อมา ในปี พ.ศ.๒๔๗๕ เกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทำให้ชุดที่ ๒๐ และชุดที่ ๒๑ ทั้งสองชุด ถูกส่งตัวกลับไม่มีผู้ใดจบการศึกษาตามหลักสูตร ในยุคต้น ๆ โรงเรียนเสนาธิการทหารบกมีสภาพเป็นเพียงแค่ห้องเรียนโรงเรียนเสนาธิการทหาร บก โดยอาศัยอยู่ในตึกศาลาว่าการกระทรวงกลาโหม ชั้นบนบ้าง ชั้นล่างบ้าง เท่าที่สถานที่จะอำนวยให้ จนต่อมา เมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๖๓ จึงได้จัดตั้งโรงเรียนเสนาธิการทหารบกเป็นเอกเทศ ขึ้นกับกรมยุทธศาสตร์ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๖๗ (ชุดที่ ๑๓) จึงย้ายโรงเรียนเสนาธิการทหารบก จากกระทรวงกลาโหม ไปอยู่ในบริเวณกรมแผนที่ทหารในปัจจุบัน ในสมัยก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองนี้ ยังมีสิ่งสำคญที่ควรจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ และเป็นสิ่งที่ผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเสนาธิการทหารบกทุกนายมีความ ภาคภูมิใจ สิ่งนั้นก็คือ เข็มเสนาธิปัตย์ ซึ่งออกแบบแล้วเสร็จในปี พ.ศ.๒๔๗๑ (ชุดที่ ๑๖) และได้แจกจ่ายแก่ " ผู้มีสิทธิ์ " ตั้งแต่ชุดที่ ๗ เป็นต้นมา และได้มีการแจกเข็มเสนาธิปัตย์ และจัดงานเสนาธิการสโมสรครั้งแรก เมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๗๑
พ.ศ.๒๔๗๗ - ๒๔๘๘ หลังจากโรงเรียนเสนาธิการทหารถูกสั่งปิด เพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.๒๔๗๕ ได้ประมาณ ๒ ปี พ.ศ.๒๔๗๗ จึงได้เริ่มเปิดสอนขึ้นใหม่อีกครั้ง เป็นการเริ่มต้นสมัยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในสมัยนี้ ได้เปิดการศึกษาในชุดที่ ๒๒ จนถึงชุดที่ ๒๖ หลักสูตรการศึกษาในชุดที่ ๒๒ คงใช้หลักสูตรเช่นเดียวกับชุดที่ ๒๑ ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่อย่างไรก็ดี ได้มีระเบียบกำหนดให้ผู้สอบได้คะแนนเยี่ยม ไปศึกษาในโรงเรียนเสนาธิการทหารบกต่างประเทศ เพื่อนำเอาหลักการ และวิธีการสอนมาปรับปรุงใช้ในโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ซึ่งในชุดที่ ๒๒ นี้ ร้อยเอก เนตร เขมะโยธิน และ ร้อยเอก สุรจิตร จารุเศรณี ได้คะแนนยอดเยี่ยม (ต่อมา ทั้ง ๒ ท่านได้เป็นอาจารย์ และ ผู้บัญชาการโรงเรียนเสนาธิการทหารบก) จึงได้ส่งไปศึกษาในโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ประเทศฝรั่งเศส และ เบลเยี่ยม ตามลำดับ ซึ่งต่อมา หลักสูตรการศึกษาได้ปรับปรุงโดยใช้หลักสูตรของโรงเรียนเสนาธิการทหารบกฝรั่งเศสเป็นหลัก ในปี พ.ศ.๒๔๘๒ ได้ปิดการศึกษา ๑ ปี เพื่อปรับปรุงหลักสูตร และอบรมครูก่อนเปิดการศึกษาในชุดที่ ๒๕ ในปี พ.ศ.๒๔๘๓ ในระหว่างเริ่มต้นการศึกษาในชุดที่ ๒๕ นี้ สถานการณ์ของโลกได้ผันแปรเลวร้ายลง จนในที่สุดก็เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ขึ้น จึงได้เร่งรัดการศึกษาโดยใช้เวลา ๕ เดือน ศึกษาวิชาตามหลักสูตรปีที่ ๑ โดยตัดวิชาที่ไม่จำเป็นออก และบรรจุในหน้าที่ฝ่ายเสนาธิการในสนาม เมื่อปลายปี พ.ศ.๒๔๘๓ ซึ่งต่อมา เมื่อกรณีพิพาทอินโดจีนได้ยุติลงแล้ว ก็ได้เรียกนายทหารชุดนี้กลับเข้ามาศึกษาในปีที่ ๒ ต่อในปี พ.ศ.๒๔๘๔ แต่อย่างไรก็ดี สถานการณ์ของโลกโดยทั่วไปยังไม่ปกติ จึงได้เร่งรัดการศึกษาตามหลักสูตรปีที่ ๒ ลงเหลือเพียง ๖ เดือน ในปี พ.ศ.๒๔๘๕ ได้ปิดการศึกษาไปหนึ่งปี ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๘๖ จึงได้เปิดการศึกษาชุดที่ ๒๖ เนื่องจากขาดแคลนนายทหารฝ่ายเสนาธิการ โดยใช้ระยะเวลาการศึกษาเพียง ๓ เดือน แต่ต่อมา ได้ขยายเวลาการศึกษาออกเป็น ๘ เดือน แล้วบรรจุให้เป็นฝ่ายเสนาธิการโดยไม่มีการสอบ ในด้านการคัดเลือกผู้เข้ารับการศึกษา ยังคงใช้หลักเกณฑ์เดิมในชุดที่ ๒๑ ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เว้นในชุดที่ ๒๖ ซึ่งอยู่ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ ใช้วิธีการให้หน่วยคัดเลือกมาเหล่าละ ๔ นาย (เฉพาะเหล่า ร., ม., ป., ช. และ ส.) สำหรับเหล่าทัพอื่นนั้น กองทัพเรือฝากนายทหารเข้ารับการศึกษา ตั้งแต่ชุดที่ ๒๒ กองทัพอากาศ ตั้งแต่ชุดที่ ๒๓ สำหรับสถานที่การศึกษา ได้ย้ายจากกรมแผนที่ทหาร ไปอยู่วังบางขุนพรหม ตั้งแต่ชุดที่ ๒๒ จนถึงชุดที่ ๒๔ แล้วย้ายกลับไปที่กระทรวงกลาโหม ตั้งแต่ชุดที่ ๒๕ จนถึงชุดที่ ๒๖
พ.ศ.๒๔๘๙ - ปัจจุบัน ในระหว่างปี พ.ศ.๒๔๘๗ - ๒๔๘๘ ยังอยู่ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ จึงไม่ได้เปิดการศึกษา ต่อมาเมื่อสงครามโลกได้ยุติลงในปี พ.ศ.๒๔๘๙ ประเทศไทยก็เริ่มเข้าสู่สภาวะสงบสุขอีกครั้งหนึ่ง ผลจากสงครามทำให้ผู้นำประเทศในขณะนั้นได้ข้อคิดเห็นใหม่ ๆ ในด้านการป้องกันประเทศหลายประการ สำหรับในด้านการทหาร ได้เห็นความจำเป็นที่จะต้องพัฒนากำลังกองทัพ ทั้งด้านคุณภาพ และปริมาณ รวมทั้งเห็นความสำคัญที่จะต้องไปผูกพันกันกับชาติมหาอำนาจทางการทหารเพื่อ รับวิทยาการ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ และที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือ การขอรับความช่วยเหลือทางด้านกิจการทหารจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งก็ได้ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศไทยตามโครงการช่วยเหลือทางด้านการทหาร ระหว่างประเทศไทยกับสหรัฐอเมริกา เป็นผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในกองทัพบกไทย ทั้งทางด้านยุโธปกรณ์ และหลักนิยม ในการปฏิบัติการรบ ก็ได้เริ่มมีการปรับปรุงและจัดหลักสูตรการศึกษา ตลอดจนพัฒนาวิธีการดำเนินการศึกษาเข้าไปสู่ระบบใหม่ ตามความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยิ และวิชาการที่ได้รับมาใหม่ วิวัฒนาการของโรงเรียนเสนาธิการทหารบกในระยะนี้ สามารถแบ่งออกเป็น ๓ ตอน คือ.- ตอนที่ ๑ ปรับปรุงหลักสูตรใหม่ แต่ยังคงใช้ระยะเวลาการศึกษา ๒ ปีเหมือนเดิม และสถานที่การศึกษา ยังคงอยู่ในศาลาว่าการกระทรวงกลาโหม ตอนที่ ๒ ปรับปรุงหลักสูตรใหม่ โดยใช้ระยะเวลาการศึกษา ๑ ปี สำหรับ หลักสูตรหลักประจำ และเวลา ๖ เดือน สำหรับหลักสูตรเร่งรัด และย้ายสถานที่ศึกษาไปอยู่ ณ ตำบลสวนสนปฏิพัทธ์ อ.หัวหิน จว.ประจวบคีรีขันธ์ ตอนที่ ๓ คงใช้หลักสูตรการศึกษาเช่นเดียวกับตอนที่ ๒ แต่ ย้ายกลับมาเข้าที่ตั้งชั้วคราวที่โรงเรียนยานเกราะเดิม ที่ จว.พระนคร แล้วต่อมาจึงย้ายเข้าที่ตั้งถาวรของโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ณ อาคารประภาสโยธิน ในปัจจุบัน
(พ.ศ.๒๔๘๙ - ๒๕๐๑) โรงเรียนเสนาธิการทหารบกในยุคที่ ๓ ตอนที่ ๑ นับว่าเป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ เพราะได้ปรากฏการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ๆ ในระบบการศึกษาของโรงเรียน โดยเริ่มเปลี่ยนมาใช้หลักนิยมด้านการจัดการฝึก และการยุทธ ตามแบบของกองทัพบกสหรัฐอเมริกา รวม ทั้งกองทัพบกได้ทำการคัดเลือกนายทหารส่งไปศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกาเป็น จำนวนมาก เมื่อผู้ที่ไปศึกษาเดินทางกลับมา ก็ได้นำหลักฐานตำราต่าง ๆ ติดมาด้วย พร้อมทั้งได้แปลออกมาเป็นภาษาไทย เพื่อเผยแพร่จนเป็นที่ยึดถืออ้างอิงใช้เป็นตำราประกอบการสอนในโรงเรียนทหารต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ถึงแม้ในปี พ.ศ.๒๔๘๗ และ ๒๔๘๘ นั้น ไม่ได้เปิดการศึกษาก็ตาม แต่ก็ได้มีการเปิด " ชุดอบรมพิเศษ " ใช้เวลา ๓ เดือน รวม ๒ รุ่น ในปลายปี พ.ศ.๒๔๘๖ และปลายปี พ.ศ.๒๔๘๘ ดังนั้น เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติลง ในปี พ.ศ.๒๔๘๙ กองทัพบกจึงได้เรียกนายทหารชุดอบรมพิเศษทั้งสองรุ่นมาสอบเข้าเรียนในชุดที่ ๒๗ ปรากฏว่าสอบเข้าได้ทุกนาย หลักสูตรการศึกษาในชุดนี้นั้น ยังคงมีระยะเวลา ๒ ปี ในปีที่ ๑ คงใช้หลักสูตรแบบฝรั้งเศสที่ได้ปรับปรุงไว้ตั้งแต่ชุดที่ ๒๕ แต่การศึกษาในปีที่ ๒ ได้ปรับปรุงใหม่เป็นแบบของโรงเรียนเสนาธิการทหารบกสหรัฐอเมริกา และได้เริ่มส่งผู้สอบได้ที่ ๑ ของชุด ไปศึกษาในโรงเรียนเสนาธิการทหารบกสหรัฐอเมริกา สถานที่ศึกษายังคงใช้ในศาลาว่าการกระทรวงกลาโหม ในปี พ.ศ.๒๔๙๑ กองทัพบกได้กำหนดวิธีการคัดเลือกผู้เข้ารับการศึกษาในชุดที่ ๒๘ ใหม่ โดยกำหนดคุณสมบัติให้สูงขึ้น และกำหนดให้มีการสอบคัดเลือกด้วยข้อเขียน ใช้เวลา ๔ วัน และสอบวิชาเหล่าด้วยปากเปล่าเป็นเวลา ๒ วัน รวมทั้งมีการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาใหม่ให้ทันสมัยขึ้น ในปี พ.ศ.๒๔๙๑ นี้ กองทัพบกได้จัดตั้งโรงเรียนผสมเหล่า หรือ หลักสูตรผสมเหล่า ขึ้น โดยให้โรงเรียนเสนาธิการทหารบกรับผิดชอบในการดำเนินการทั้งสิ้น ดังนั้น จึงเป็นหลักสูตรหนึ่งของโรงเรียนเสนาธิการทหารบก หลักสูตรผสมเหล่านี้ มีความมุ่งหมายเพื่อให้นายทหารชั้นผู้ใหญ่ชั้นพันโทเต็มขั้นเข้ารับการศึกษา เพื่อเลื่อนยศให้สูง ขึ้น เพื่อทำหน้าที่ผู้บังคับหน่วย และฝ่ายอำนวยการในกองทหารขนาดใหญ่ในระดับกองพลขึ้นไป จึงทำให้บุคคลทั่วไปนิยมเรียกหลักสูตรนี้ว่า " หลักสูตรนายทหารชั้นผู้ใหญ่ " หลักสูตรผสมเหล่านี้ ใช้หลักสูตรการศึกษาของโรงเรียนเสนาธิการทหารบกนั่นเอง แต่ลดระยะเวลาการศึกษาลงเหลือ ๑ ปี โดยตัดวิชาประกอบ และวิชาภาษาอังกฤษออก หลักสูตรนี้เปิดการศึกษาเพียง ๒ ชุด ผู้สำเร็จการศึกษาได้ประกาศนียบัตร และเข็มเสนาธิปัตย์สีเงิน ซึ่งต่อมาเปลี่ยนแปลงเป็นสีทองเช่นเดียวกับหลักสูตรหลักประจำ สำหรับหลักสูตรการศึกษาในชุดที่ ๒๙ ถึงชุดที่ ๓๒ คงใช้วิธีคัดเลือกเข้ารับการศึกษา และหลักสูตรการศึกษาเช่นเดิม แต่มีการปรับปรุงให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ในชุดที่ ๒๙ กรมตำรวจเริ่มฝากนายตำรวจเข้ารับการศึกษา และเปิดหลักสูตรผสมเหล่าชุดที่ ๒ เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๕ เป็นชุดสุดท้าย ต่อ มา ในชุดที่ ๓๓ ได้มีการปรับปรุงหลักสูตรเข้าสู่ระบบของสหรัฐอเมริกามากยิ่งขึ้น และปรับปรุงต่อมาตามลำดับ จนถึงชุดที่ ๓๖ ซึ่งเป็นชุดสุดท้ายที่ใช้ในหลักสูตร ๒ ปี และชุดสุดท้ายที่ใช้สถานที่ศึกษาในศาลาว่าการกระทรวงกลาโหม
(พ.ศ.๒๕๐๑ - ๒๕๐๗) ในปี พ.ศ.๒๕๐๐ รัฐบาลสั่งการให้กระทรวงต่าง ๆ จัดทำโครงการดำเนินงานภายในกระทรวงของตนเสนอให้รัฐบาลพิจารณา ซึ่งกระทรวงกลาโหมได้เสนอโครงการ ๔ ปี ในการปรับปรุงการดำเนินงานของโรงเรียนเสนาธิการทหารบก โดยเริ่มจากปี พ.ศ.๒๕๐๑ ซึ่งได้รับการอนุมัติในโอกาสต่อมา โดยกำหนดโครงการไว้เป็นขั้นตอน ดังนี้ ๑. ให้ผลิตนายทหารฝ่ายเสนาธิการให้พิใช้สำหรับ ๑๐ กรมผสม และให้หน่วยอื่น ๆ ตามความต้องการของกองทัพบก ซึ่งจุระบุจำนวนมาให้ ๒. ให้ใช้หลักสูตรการศึกษา ๑ ปี โดยยึดถือแบบฉบับของสหรัฐอเมริกา เหตุผลที่ให้ลดการศึกษาลงเหลือ ๑ ปี ก็เพราะว่ากองทัพบกจะจัดตั้งวิทยาลัยการทัพบกขึ้น เพื่อให้การศึกษาแก่นายทหารระดับอาวุโสของกองทัพบก ซึ่งมีความชำนาญงาน และมีโอกาสจะได้เป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ต่อไปในอนาคต ๓. ย้ายโรงเรียนไปเข้าที่ตั้งใหม่ ณ สวนสนปฏิพัทธ์ ตามนโยบายของผู้บังคับบัญชาที่จะให้ โรงเรียน เสนาธิการทหารบกมีสถานที่เป็นของตน สมกับที่เป็นสถาบันการศึกษาชั้นสูงของกองทัพบกเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายที่ กำหนดไว้ดังกล่าว โรงเรียนเสนาธิการทหารบกจึงได้มีการปรับปรุงแก้ไขหลักสูตรการศึกษาที่ใช้ อยู่เดิม ให้มีระยะเวลาการศึกษาลดลงเหลือเพียง ๑ ปี ตั้งแต่ชุดที่ ๓๗ จนถึงชุดที่ ๓๙ ต่อมาในชุดที่ ๔๐ ก็ได้มีการปรับปรุงหลักสูตรอีกครั้งหนึ่ง โดยกำหนดเป็นหลักสูตร ๑๓ เดือน โดยใช้เวลาการศึกษา ๕๒ สัปดาห์ ศึกษาในห้องเรียน ๔๔ สัปดาห์ อีก ๘ สัปดาห์ เป็นการดูงาน ตรวจและศึกษาภูมิประเทศ และฝึกภาคสนาม ซึ่งโรงเรียนเสนาธิการทหารบกได้ใช้หลักสูตรนี้ จากชุดที่ ๔๐ จนถึงชุดที่ ๔๕ ในชุดที่ ๓๗ จนถึงชุดที่ ๔๐ กองทัพบกได้อนุมัติให้มีการ " นั่งฟัง " ในโรงเรียนเสนาธิการทหารบก เพื่อให้บุคคลที่พ้นเกณฑ์ที่มีสิทธิ์สมัครสอบคัดเลือกเข้าศึกษาในหลักสูตร หลักประจำ ได้มีโอกาสเพิ่มพูนความรู้ นายทหารนั่งฟัง ต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนด และสอบคัดเลือกเข้านั่งฟังพร้อมกับผู้ที่สมัครเข้าศึกษาในหลักสูตรหลักประจำ เฉพาะวิชาที่กำหนดให้ และแยกบัญชีไว้อีกประเภทหนึ่งต่างหาก ซึ่งเมื่อนายทหารนั่งฟังจบหลักสูตร และสอบไล่ได้ตามเกณฑ์ ก็จะได้ใบรับรองวิทยฐานะว่า ผ่านการศึกษาจากโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ได้รับเข็มเสนาธิปัตย์ เป็นเกียรติยศ แต่ไม่มีสิทธิ์ได้รับการบรรจุในตำแหน่งฝ่ายเสนาธิการ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๔๐ กองทัพบกได้พิจารณาเห็นว่าการศึกษาในโรงเรียนเสนาธิการทหารบกนั้น อำนวยประโยชน์ให้ไม่เฉพาะแต่ผู้ที่จะไปทำหน้าที่ฝ่ายเสนาธิการเท่านั้น ยังให้ประโยชน์ทั้งผู้บังคับบัญชาหน่วยทหาร และฝ่ายอำนวยการของกรมยุทธบริการ กรมฝ่ายกิจการพิเศษ และหน่วยในส่วนการศึกษาอีกด้วย นอกจากนี้ ในการปฏิบัติงาน ยังจำเป็นต้องมีความเข้าใจในหน้าที่ของแต่ละฝ่าย จึงจะทำให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ และประสานงานกันอย่างได้ผลดีแก่ส่วนรวม ดังนั้น จึงให้โรงเรียนเสนาธิการทหารบก เปิดหลักสูตรเร่งรัดขึ้น ใช้ระยะเวลาการศึกษาประมาณ ๖ เดือน และเข้าฝึกภาคสนามพร้อมกับหลักสูตรหลักประจำในปลายปี ซึ่งโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ได้เปิดหลักสูตรเร่งรัดต่อเนื่องกันรวม ๗ ชุด ตั้งแต่หลักสูตรหลักประจำ ชุดที่ ๔๐ จนถึงชุดที่ ๔๖ ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ในปี พ.ศ.๒๕๐๒ ราชอาณาจักรลาว ได้ฝากนายทหารลาว จำนวน ๒ นาย เข้าเรียนในชุดที่ ๓๘ เป็นประเทศแรก
(พ.ศ.๒๕๐๗ - ปัจจุบัน) กองทัพบกได้พิจารณาเห็นว่าที่ตั้งของโรงเรียนเสนาธิการทหารบกที่สวนสน ปฏิพัทธ์ อ.หัวหิน จว.ประจวบคีรีขันธ์ มีความไม่สะดวกและไม่เหมาะสมหลายประการ เพราะที่ตั้งอยู่ห่างไกลความเจริญการจัดหาครูอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิกระทำได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจารย์ที่ต้องจัดมาบรรยายพิเศษ อีกประการหนึ่ง อาคารสถานที่เรียน ส่วนใหญ่ขาดความสง่างาม ไม่สมเกียรติกับที่เป็นสถาบันการศึกษาชั้นสูงของกองทัพบก ดังนั้นกองทัพบกจึงออกคำสั่งให้ย้ายโรงเรียนเสนาธิการทหารบก กลับเข้ามาตั้งที่โรงเรียนยานเกราะกรุงเทพฯ เป็นการชั่วคราว เมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน พ.ศ.๒๕๐๗ และให้เร่งดำเนินการจัดสถานที่เพื่อก่อสร้างโรงเรียนถาวรต่อไป และในที่สุด โรงเรียนเสนาธิการทหารบกก็มีสถานที่อันเหมาะสม สง่างาม และมีความสะดวกสบายพอสมควร ตั้งอยู่ที่ในบริเวณกรมยุทธศึกษาทหารบก นับตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๒ เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ในสมันที่ย้ายจากสวนสนปฏิพัทธ์มาอยู่กรุงเทพฯ นี้ ได้เปิดการศึกษาชุดที่ ๔๓ จนถึงชุดที่ ๔๘ ณ ที่ตั้งชั่วคราวในบริเวณโรงเรียนยานเกราะ หลักสูตรการศึกษาคงใช้หลักสูตรการศึกษาเดิม ๕๒ สัปดาห์ จากชุดที่ ๔๓ จนถึงชุดที่ ๔๕ ต่อมาในชุดที่ ๔๖ ได้ร่นระยะเวลาการศึกษาลงเหลือ ๔๒ สัปดาห์ เนื่องจากความต้องการนายทหารฝ่ายเสนาธิการมีเพิ่มมากขึ้นในการจัดกำลังไปรบ ในสงครามเวียดนาม ต่อมาในชุดที่ ๔๙ ได้ย้ายโรงเรียนเข้ามาอยู่ ณ ที่ตั้งถาวรในอาคารประภาสโยธิน แล้วก็กลับไปใช้หลักสูตร ๕๒ สัปดาห์ เช่นเดิม ในปี พ.ศ.๒๕๑๘ กองทัพบกได้กำหนดคุณสมบัติของผู้เข้ารับการศึกษาในโรงเรียนเสนาธิการทหารบกให้สูงขึ้น จึงปรากฏว่ามีนายทหารที่มีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะเข้ารับการศึกษาได้น้อยมาก ไม่คุ้มค่าที่จะเปิดการศึกษา จึงได้ระงับการเปิดการศึกษาในปีการศึกษา ๒๕๑๘ - ๒๕๑๙ ไว้ ๑ ปี และเปิดการศึกษาชุดที่ ๕๕ ในปี ๒๕๑๙ นอกจากนี้ยังได้เปิดการศึกษาเพื่อสนับสนุนกรมตำรวจ และสนับสนุนการศึกษานี้มาตามลำดับต่อมา ในปีการศึกษา ๒๕๒๐ - ๒๕๒๑ (ชุดที่ ๕๖) ซึ่งในปีนี้ พลเอก สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฏราชกุมาร ทรงเข้ารับการศึกษาในชุดที่ ๕๖ นี้ และทรงสำเร็จการศึกษาได้คะแนนยอดเยี่ยม ต่อมาในชุดที่ ๕๘ ได้มีการปรับปรุงวิธีการคัดเลือกเข้ารบการศึกษาในโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ใหม่ โดยให้หน่วยคัดเลือกนายทหารเข้ามารับการศึกษาตามจำนวนที่กำหนดให้ และได้ใช้วิธีการนี้ต่อมาจนถึงชุดที่ ๖๕ จึงได้เห็นว่าเป็นวิธีการที่ไม่เหมาะสม ทั้งนี้เพราะปรากฏว่านายทหารนักเรียนจำนวนหนึ่ง มักมีมาตรฐานต่ำกว่ามาตรฐานของชุดอยู่เสมอ จนทำให้มีการส่วนายทหารนักเรียนกลับต้นสังกัด ๑๐ นาย ในชุดที่ ๖๑ เพราะไม่สามารถสอบผ่านภาควิชาพื้นฐานในช่วงต้นของการศึกษา ในชุดที่ ๖๓ สอบตก ๑ นาย และในชุดที่ ๖๕ สอบไม่ผ่านภาควิชาพื้นฐาน ๑ นาย ดังนั้นในการคัดเลือกนายทหารเข้ารับการศึกษาในชุดที่ ๖๖ กองทัพบกจึงกำหนดวิธีการคัดเลือกเสียใหม่ โดยใช้วิธีการสอบคัดเลือก และให้โรงเรียนเสนาธิการทหารบก จัดทำคู่มือทางวิชาการ ซึ่งประกอบด้วย วิชาทหารราบ ทหารม้า ทหารปืนใหญ่ ทหารช่าง และทหารสื่อสาร วิชาการปฏิบัติการรบตามแบบ วิชาการสงครามพิเศษ วิชาเสนาธิการกิจ วิชาแผนที่และเครื่องหมายทางทหาร และวิชากรมฝ่ายยุทธบริการ รวม ๑๐ ชุดวิชา ให้นายทหารผู้ประสงค์จะสอบคัดเลือกเข้ารับการศึกษาได้ศึกษาด้วยตนเองก่อนสอบ ผลปรากฏว่าการศึกษาในชุดที่ ๖๖ ได้ผลดี นอกจากนี้จากการที่นายทหารนักเรียนมีพื้นฐานการศึกษาสูง จึงทำให้สามารถปรับปรุงวิธีการในการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของกองทัพบกซึ่งต้องการให้ โรงเรียนเสนาธิการทหารบก เน้นการให้การศึกษาภาคปฏิบัติยิ่งกว่าการบรรยาย ในด้านวิธีการเรียนการสอนนั้นก็ได้พัฒนามาโดยลำดับ โดยผสมผสานการบรรยายในภาคทฤษฎี ควบคู่กับการปฏิบัติด้วยการทำแบบฝึกหัดแก้ปัญหา และฝึกภาคสนาม ต่อมาในชุดที่ ๖๒ เป็นต้นมา ปรากฏว่ามีนายทหารนักเรียนเข้ารับการศึกษา ประมาณชุดละ ๓๐๐ นาย จึงได้พัฒนาวิธีการศึกาาเพื่อรองรับนายทหารนักเรียนจำนวนมาก โดยการใช้ระบบโทรทัศน์วงจรปิด ต่อมาได้พิจารณาแล้วเห็นว่าไม่ได้ผลจึงได้ยกเลิกระบบโทรทัศน์วงจรปิด เป็นการสื่อการเรียนการสอนตั้งแต่ชุดที่ ๖๖ แต่ใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนเสริม และควบคุมการศึกษาเป็นคณะ ซึ่งได้เริ่มใช้มาตั้งแต่ชุดที่ ๖๒ เช่นเดียวกัน ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๒๙ กองทัพบกได้กำหนดนโยบายการศึกษาให้โรงเรียนเสนาธิการทหารบกเน้นการสอนในภาค ปฏิบัติมากกว่าการบรรยาย ดังนั้นในชุดที่ ๖๕ จึงได้ปรับปรุงวิธีการเรียนการสอนในภาคปฏิบัติเพิ่มมากขึ้น จนถึงประมาณร้อยละ ๔๐ และในชุดที่ ๖๖ เพิ่มเป็นการศึกษาในภาคปฏิบัติ ร้อยละ ๖๐ และการบรรยายประมาณร้อยละ ๔๐ ในด้านการประเมินผลการศึกษานั้น ได้ใช้ระบบการศึกษาแบบหน่วยกิต และให้คะแนนเป็นตัวอักษรหรือเป็นเกรดตั้งแต่ชุดที่ ๖๓ เป็นต้นมาด้วยระบบการอิงกลุ่ม ต่อมาได้พัฒนาเข้าสู่ระบบอิงเกณฑ์ และอิงกลุ่มผสมกัน การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีจุดประงสงค์หลัก ๒ ประการ คือ เพื่อให้เป็นมาตรฐานสากล และรองรับโครงการศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (การทหาร) หรือใช้คำย่อว่า ศศ.ม.(การทหาร) การสอบเปลี่ยนจากการสอบเป็นรายวิชาเมื่อจบวิชานั้น ๆ ไปสู่การสอบเป็นห้วงเวลา ซึ่งในชุดที่ ๖๖ ได้จัดช่วงสอบไว้ ๓ ครั้งตลอดหลักสูตร การเปลี่ยแปลงวิธีการสอบ ก็เพื่อให้นายทหารนักเรียนตั้งใจเรียนและตั้งใจสอบในช่วงระยะเวลาที่กำหนด ให้แทนการเรียน และแอบดูหนังสือเพื่อสอบไปพร้อม ๆ กันจากการจัดการสอบดังกล่าว ได้นำไปสู่การพัฒนาหลักสูตรเป็น ๓ ภาคการศึกษา ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป สำหรับ หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (การทหาร) ซึ่งมักจะเรียกกันว่า หลักสูตรปริญญาโททางทหารนี้ ได้ถือกำเนิดมาจากการที่กองทัพบกได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการศึกษา ซึ่งจะต้องพิจารณาควบคู่กันไปกับการพัฒนาเพื่อสร้างสรรค์ความเจริญให้กับ ประเทศชาติและทหารนั้น นอกจากจะมีหน้าที่ในการป้องกันประเทศแล้ว ยังจะต้องมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศในยามปกติอีกด้วย ดังนั้น จึงจะต้องพัฒนากำลังพลของกองทัพ ทั้งทางด้านความรู้ ทักษะ และทัศนคติที่ถูกต้องเหมาะสม ในอันที่จะเสริมสร้างความมั่นคง และส่งเสริมความมั่งคั่งให้แก่ประเทศชาติ ดังนั้น ในปี ๒๕๒๙ กองทัพบกจึงได้เปิดการศึกษา หลักสูตรปริญญาโททางทหาร รุ่นที่ ๑ ขึ้น
นอกจากนี้ จากการที่นายทหารนักเรียนมีพื้นฐานการศึกษาสูง จึงทำให้สามารถปรับปรุงวิธีการให้การศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของกองทัพบก ซึ่งต้องการให้โรงเรียนเสนาธิการทหารบก เน้นการให้การศึกษาภาคปฏิบัติมากกว่าการบรรยาย ด้านวิธีการเรียนการสอนนั้น ก็ได้พัฒนามาโดยลำดับ โดยผสมผสานการบรรยายในภาคทฤษฎี ควบคู่กับการปฏิบัติด้วยการทำแบบฝึกหัดแก้ปัญหาและฝึกภาคสนาม ต่อมาในชุดที่ ๖๒ เป็นต้นมา ได้รับนายทหารนักเรียนเข้ารับการศึกษาประมาณชุดละ ๓๐๐ นาย จึงได้พัฒนาวิธีการศึกษาเพื่อรองรับนายทหารนักเรียนจำนวนมาก โดยการใช้ระบบโทรทัศน์วงจรปิด ต่อมาได้พิจารณาแล้วเห็นว่าไม่ได้ผล จึงได้ยกเลิกโทรทัศน์วงจรปิดเป็นสื่อการสอนหลัก ตั้งแต่ชุดที่ ๖๖ แต่ใช้เป็นสื่อการสอนเสริม และควบคุมการศึกษาเป็นคณะ ซึ่งได้เริ่มใช้มาตั้งแต่ชุดที่ ๖๒ เช่นเดียวกัน ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๒๙ กองทัพบก ได้กำหนดนโยบายการศึกษาให้โรงเรียนเสนาธิการทหารบก เน้นการสอนในภาคปฏิบัติมากกว่าการบรรยาย ดังนั้น ในชุดที่ ๖๕ จึงได้ปรับปรุงวิธีการเรียนการสอนในภาคปฏิบัติเพิ่มมากขี้นจนถึงประมาณ ๔๐ เปอร์เซ็นต์ และในชุดที่ ๖๖ เพิ่มเป็นการศึกษาในภาคปฏิบัติเป็น ๖๐ เปอร์เซ็นต์ และการบรรยายประมาณ ๔๐ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งได้ใช้เป็นกรอบโดยประมาณเรื่อยมา
ด้านการประเมินผลการศึกษานั้น ได้ใช้ระบบการศึกษาแบบหน่วยกิต และให้คะแนนเป็นตัวอักษรหรือเป็นเกรดตั้งแต่ชุดที่ ๖๓ เป็นต้นมา ด้วยระบบการอิงกลุ่ม ต่อมาได้พัฒนาเข้าสู่ระบบอิงเกณฑ์และอิงกลุ่มผสมกัน การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีวัตถุประสงค์หลัก ๒ ประการ คือ เพื่อให้เป็นมาตรฐานสากล และรองรับโครงการศิลปศาสตรมหาบัณฑิต(การทหาร) หรือ “ศศ.ม.(การทหาร)” การสอบเปลี่ยนจากการสอบเป็นรายวิชาเมื่อศึกษาจบวิชานั้น ๆ ไปสู่การสอบเป็นห้วงเวลา ซึ่งชุดที่ ๖๖ ได้จัดช่วงสอบไว้ ๓ ครั้งตลอดหลักสูตร การเปลี่ยนแปลงวิธีการสอบก็เพื่อให้นายทหารนักเรียนตั้งใจเรียน และตั้งใจสอบในช่วงเวลาที่กำหนดให้ (แทนการเรียนและดูหนังสือเพื่อสอบไปพร้อม ๆ กันของนายทหารนักเรียน) จากการจัดการสอบดังกล่าวได้นำไปสู่การพัฒนาหลักสูตรเป็นภาคการศึกษาต่อมาแต่ไม่มีการหยุดพักระหว่างภาคเรียน และใช้การสอบเป็นช่วง ๆ ตลอดมา
สำหรับหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (การทหาร) ซึ่งมักจะเรียกกันว่า หลักสูตรปริญญาโททางทหารนี้ ได้ถือกำเนิดมาจากการที่กองทัพบกได้เล็งเห็นความสำคัญของการศึกษา ซึ่งจะต้องพิจารณาควบคู่ไปกับการพัฒนาเพื่อสร้างสรรค์ความเจริญให้กับประเทศชาติ ซึ่งทหารนั้นนอกจากจะมีหน้าที่ในการป้องกันประเทศแล้ว ยังจะต้องมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศในยามปกติอีกด้วย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องพัฒนากำลังพลของกองทัพ ทั้งทางด้านความรู้ ทักษะ และทัศนคติที่ถูกต้องเหมาะสม ในอันที่จะเสริมสร้างความมั่นคงและส่งเสริมความมั่งคั่งให้แก่ประเทศชาติ ดังนั้น ในวันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๙ กองทัพบกจึงได้เปิดการศึกษาหลักสูตรปริญญาโททางทหาร รุ่นที่ ๑ ขึ้น โดย พล.อ. อาทิตย์ กำลังเอก เป็นประธาน จนถึงปัจจุบันเป็นรุ่นที่ ๓๒ โดยโรงเรียนเสนาธิการทหารบกเป็นผู้บริหารหลักสูตร และอาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นผู้สอน หลักสูตรนี้ศึกษานอกเวลาราชการ ใช้เวลาไม่เกิน ๕ ปี ผู้ที่มีสิทธิ์สอบคัดเลือกเข้าศึกษาจะต้องสำเร็จปริญญาตรี และสำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรหลักประจำ สำหรับสถานภาพของหลักสูตรนี้ ขณะนี้หลักสูตรได้ผ่านการรับรองจากทบวงมหาวิทยาลัย และออกเป็นพระราชบัญญัติรับรองแล้ว ทำให้กองทัพบกสามารถประสาทปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (การทหาร) นี้ได้ตั้งแต่ปี ๒๕๓๓ และปัจจุบันได้ปรับเป็น ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ความมั่นคงศึกษา)
นอกจากความร่วมมือทางวิชาการในการสนับสนุนกรมตำรวจ โดยการเปิดการศึกษาเพิ่มเติมให้ในหลักสูตรฝ่ายอำนวยการตำรวจในปี พ.ศ. ๒๕๒๐ แล้ว ยังให้ได้ความร่วมมือกับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เปิดการศึกษาหลักสูตรฝ่ายอำนวยการกองอาสารักษาดินแดนขึ้นอีกในปี พ.ศ. ๒๕๒๗ ใช้เวลาในการศึกษาประมาณ ๔ เดือน โดยการปรับปรุงหลักสูตรจากหลักสูตรหลักประจำ ให้สอดคล้องกับบทบาทของฝ่ายพลเรือน ในการมีส่วนร่วมการรักษาความมั่นคงภายในและการป้องกันประเทศจากภัยคุกคามโดยเปิดเผย จากการเปิดหลักสูตรทั้งทางทหาร ตำรวจ และพลเรือนดังกล่าว ทำให้เอื้ออำนวยต่อการให้การศึกษาและการฝึกภาคสนาม ในเรื่องการผนึกกำลังต่อสู้เบ็ดเสร็จร่วมกันได้เป็นอย่างดี ตั้งแต่ชุดที่ ๖๒ เป็นต้นมา การให้การศึกษาซึ่งเน้นหนักในเรื่อง “หลักนิยมการต่อสู้เบ็ดเสร็จ” นี้ นับว่ามีความสอดคล้องกับนโยบายการศึกษาของกองทัพบก ที่มอบไว้ให้โรงเรียนเสนาธิการทหารบกเพื่อให้การศึกษาแก่กำลังพลนอกกองทัพบก
ความร่วมมือทางวิชาการนอกกองทัพบกนี้ โรงเรียนเสนาธิการทหารบกยังได้จัดอาจารย์ไปบรรยายวิชาวิทยาการทหารในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในโครงการ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๖ เป็นต้นมา โครงการดังกล่าวนี้ มีวัตถุประสงค์หลัก ๒ ประการ คือ เพื่อให้เกิดความร่วมมือและประสานการปฏิบัติอย่างดีระหว่างพลเรือนและทหาร และเพื่อให้เกิดความเข้าใจในหน้าที่ของการป้องกันประเทศ ซึ่งเป็นหน้าที่ของพลเมืองไทยตามรัฐธรรมนูญ
ต่อมา พ.ศ. ๒๕๓๒ ได้มีการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาชุดที่ ๖๘, ๗๑, ๗๕ ซึ่งยังคงใช้เวลาไม่เกิน ๑ ปี เป็นการปรับเนื้อหาวิชามุ่งไปสู่การใช้งานตามภารกิจหลัก ๔ ประการ ของ ทบ. คือ การป้องกันประเทศ, รักษาความมั่นคงภายใน, ป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบ และการพัฒนาประเทศ เป็น ๔๐ สัปดาห์ มีการตรวจศึกษาภูมิประเทศหลังจบภาควิชาการ ๔ สัปดาห์ ในชุดที่ ๗๑ เป็น ๔๔ สัปดาห์ และ ๔๖ สัปดาห์ ตามลำดับ โดยตัดการฝึกงานที่มีอยู่เดิมนั้นให้ไปดำเนินการที่หน่วยบรรจุ ระหว่างรอคำสั่งจากกองทัพบกต่อไป
ในปีเดียวกันนี้ (พ.ศ. ๒๕๓๒) โรงเรียนเสนาธิการทหารบก ได้ริเริ่มจัดให้มีการประกาศกียรติคุณยกย่องศิษย์เก่าที่ประสบความสำเร็จสูงสุดให้เป็น “ศิษย์เก่าดีเด่นของโรงเรียนเสนาธิการทหารบก” ขึ้นเป็นครั้งแรก การประกาศเกียรติคุณ กระทำปีละ ๑ ครั้ง ในวันที่ ๓ เมษายน ซึ่งเป็นวันสถาปนาโรงเรียนเสนาธิการทหารบก โดยมีการมอบใบประกาศเกียรติคุณ และการจารึกชื่อบนแผ่นป้ายประกาศเกียรติคุณ ในรายละเอียดศึกษาเพิ่มเติมได้ในเรื่อง “ศิษย์เก่าดีเด่นโรงเรียนเสนาธิการทหารบก”
ปี พ.ศ. ๒๕๔๕ โรงเรียนเสนาธิการทหารบก ได้มีการตกลงความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยบูรพา โดยได้จัดให้มีพิธีการลงนามในข้อตกลงร่วมกัน เมื่อ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๔๕ และในอีก ๓ ปี ถัดมา คือ ๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๘ ก็ได้มีการตกลงความร่วมมือทางวิชาการกับ มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก เพิ่มอีกด้วย
การฝึกในโรงเรียนเสนาธิการทหารบก มีการใช้ระบบจำลองยุทธ์เข้ามาเป็นเครื่องช่วย ตั้งแต่ชุดที่ ๖๐ (พ.ศ. ๒๕๑๐) แต่ยังไม่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ ในช่วงแรก ๆ จะเป็นการใช้เหรียญหรือลูกเต๋าเป็นเครื่องช่วย จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการทหาร (ศวพท.) จึงมีระบบจำลองยุทธ์ที่ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องช่วยและพัฒนาระบบเรื่อยมา จนกระทั่งไม่สามารถจะรองรับความต้องการของการฝึกได้อย่างพอเพียง และระบบที่จัดหามาจากต่างประเทศ คือ JTLS (Joint Theater Level Simulation) ก็ยังมีข้อจำกัดทางยุทธวิธี จึงมีแนวความคิดที่พัฒนาระบบจำลองยุทธ์เป็นของโรงเรียนเอง ดังนั้นในปี พ.ศ. ๒๕๔๕ จึงได้เสนอพัฒนาระบบจำลองยุทธ์ของโรงเรียนเสนาธิการทหารบกขึ้น ใช้ชื่อว่าโครงการ ATLAS (Army Tactical Level Advance Simulation) และกองทัพบกอนุมัติให้ดำเนินการได้เป็นโครงการขั้นต้น ๓ ปี ซึ่งได้รับการสนับสนุน งป. และบุคลากรจากภายนอกโรงเรียนเสนาธิการทหารบก เช่น จาก กรมเสมียนตรา กรมแผนที่ทหาร กรมสรรพาวุธทหารบก และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ได้ซอฟแวร์ (Softwares) ต้นแบบ และรายงานปิดโครงการขั้นต้น ในปี พ.ศ. ๒๕๔๙
ในห้วงนี้มีการปรับปรุงหลักสูตรเพื่อใช้กับหลักสูตรหลักประจำ ชุดที่ ๘๓ (พ.ศ. ๒๕๔๗) มีเวลาการศึกษาเช่นเดิมคือ ๔๖ สัปดาห์ แต่จัดกลุ่มวิชาใหม่ โดยมุ่งเน้นให้นายทหารนักเรียนเป็น “นักปฏิบัติการ” ได้อย่างแท้จริง ด้วยการจัดกระบวนวิชาในการเรียนเป็น ๓ ระดับ คือ ระดับยุทธวิธี ระดับยุทธการและระดับยุทธศาสตร์ และปรับวิธีการศึกษาให้สอดคล้องกันมากยิ่งขึ้น ปี พ.ศ. ๒๕๔๘ มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ คือวิธีการคัดเลือกนายทหารเข้าศึกษาจากการสอบเข้าเป็นแบบผสม กล่าวคือ นายทหารบกผู้จบการศึกษาจากโรงเรียนเตรียมทหารที่มีคุณสมบัติครบถ้วน ให้เรียกเข้าศึกษาเป็นรุ่น ๆ ไปส่วนนายทหารบกที่ไม่จบการศึกษาจากโรงเรียนเตรียมทหาร ให้สอบเข้าเช่นเดิมโดยผู้ที่เรียกเข้า (จบจาก รร.ตท.) ต้องมาเรียนเพิ่มเติมก่อนเข้าเรียนในหลักสูตรหลัก เรียกว่า “หลักสูตรการปรับพื้นฐาน” ระยะเวลารวม ๗ สัปดาห์ เรียนห้วง ส.ค. – ก.ย. ซึ่งเริ่มใช้ในชุดที่ ๘๔ โดยมีบทเฉพาะกาลให้มีผลย้อนหลังไปถึงผู้จบ รร.ตท. รุ่นที่ ๑๙ (อายุไม่เกินเกณฑ์) เฉพาะในปีแรก และได้ดำเนินการมาเพียง ๓ ชุด ถึงชุดที่ ๘๖ ก็ให้งดการเรียนปรับพื้นฐานประกอบกับหลักสูตรที่ใช้ศึกษาเดิมนั้น ถึงห้วงเวลาของการปรับปรุงหลักสูตรแล้ว จึงได้ปรับบางวิชาเป็น วิชาพื้นฐาน และขยายเวลาของหลักสูตรเป็น ๔๘ สัปดาห์ จัดวิชาใหม่เป็น ๗ หมวดวิชาและได้ใช้ในหลักสูตรหลักประจำชุดที่ ๘๗ (พ.ศ. ๒๕๕๑) เป็นหลักสูตรแรกชุดที่กำลังศึกษาอยู่ในขณะนี้ คือ ชุดที่ ๙๕ จำนวน ๒๘๑ นาย นอกจากนี้ยังมีหลักสูตรนายทหารบกอาวุโส (นบส.) ชุดที่ ๓๗ จำนวน ๑๐๕ นาย
ปี พ.ศ. ๒๕๕๑
- ปรับปรุงหลักสูตรหลักประจำ จาก ๔๖ สัปดาห์ เป็น ๔๘ สัปดาห์ จัดวิชาใหม่ เป็น ๗ หมวดวิชา (รวมวิชาปรับพื้นฐานฯ) ซึ่งจะนำมาใช้ในการจัดการศึกษาในชุดต่อไป
- เริ่มใช้หลักสูตรที่ปรับปรุงใหม่ใน ชุดที่ ๘๗ ไม่มีการสอนปรับพื้นฐาน ๗ สัปดาห์ก่อนเข้าเรียน
- เปิดการศึกษาหลักสูตรการก่อการร้ายและการต่อต้านการก่อการร้าย การก่อความไม่สงบและการป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบ สำหรับผู้บริหาร รุ่นที่ ๑ (ม.ค. ๕๑)
ปี พ.ศ. ๒๕๕๒
- สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ตรวจประกันคุณภาพการศึกษาภายนอก ครั้งที่ ๒ (๑๕ ก.พ. ๕๑)
- โรงเรียนเสนาธิการทหารบกสถาปนาครบ ๙๙ ปี จัดทำวัตถุมงคลเป็นเหรียญพระรูปเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ เป็นชุดมี ๓ แบบคือเคลือบทอง เงินแท้ และ ทองแดงพ่นทราย
- เปิดการศึกษาหลักสูตรการก่อการร้ายและการต่อต้านการก่อการร้าย การก่อความไม่สงบและการป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบ สำหรับผู้บริหาร รุ่นที่ ๒ (ม.ค. ๕๒)
ปี พ.ศ. ๒๕๕๓
- โรงเรียนเสนาธิการทหารบกสถาปนาครบ ๑๐๐ ปี จัดทำหนังสือ “๑๐๐ ปี โรงเรียนเสนาธิการทหารบก” แจกจ่ายเพิ่มเติมถึงหน่วยของ ทบ. ระดับกองพัน
- จัดทำเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก ราคา ๑๐ บาท โดยกองกษาปณ์
- ต.ค. ๕๒ มีการยุบเลิก สบส. และปรับให้ รร.สธ.ทบ. เป็น นขต.ยศ.ทบ. โดยเริ่มทดลองงานก่อน ตั้งแต่ เม.ย. ๕๒ เป็นต้นมา
- เปิดการศึกษาหลักสูตรการพัฒนาองค์ความรู้การก่อการร้ายฯ สำหรับผู้บริหารรุ่นที่ ๓
ปี พ.ศ. ๒๕๕๔
– เปิดการศึกษาหลักสูตรนายทหารอาวุโสชุดที่ ๓๐ โดยเป็นรุ่นแรกที่กองบัญชาการกองทัพไทยฝากนายทหารเข้ารับการศึกษาเพื่มเป็น จำนวน ๓๐ นายรวมกันเป็นผู้เข้ารับการศึกษาทั้งสิ้น ๙๐ นาย
- ได้รับรางวัลการวิจัยดีเยี่ยม (ด้านหลักการ) ประจำปี ๒๕๕๒ ของกองทัพบก (ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากกระทรวงกลาโหมประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๒) เรื่อง “แนวทางการกระตุ้นการเข้ามอบตัวของขบวนการแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่ จังหวัดชายแดนภาคใต้”
ปี พ.ศ. ๒๕๕๕
- เปิดการศึกษาหลักสูตรการพัฒนาองค์ความรู้การก่อการร้ายฯ สำหรับผู้บริหารรุ่นที่ ๔
- ปรับแก้คุณสมบัติของผู้เข้ารับการศึกษา หลักสูตรนายทหารบกอาวุโส จากเดิม เป็นดังต่อไปนี้ “มีชั้นยศไม่ต่ำกว่าพันตรี และมีเวลารับราชการเป็นนายทหารสัญญาบัตร หรือรวมกันกับการเป็นข้าราชการชั้นสัญญาบัตรไม่ต่ำกว่า ๑๒ ปี นับถึงปีที่เปิดการศึกษา และมีอายุตั้งแต่ ๔๑ ปี บริบูรณ์ขึ้นไป แต่ไม่เกิน ๕๐ ปี นับตามพระราชบัญญัติรับราชการทหารนับถึงปีที่เปิดการศึกษา
- เปิดการศึกษาหลักสูตร นบส. ชุดที่ ๓๑ โดยมีจำนวนผู้เข้ารับการศึกษา ๙๗ นาย
- ได้รับอนุมัติ โครงการก่อสร้างอาคาร รร.สธ.ทบ. แห่งใหม่ ในพื้นที่ กคย.สพ.ทบ. (เดิม)
ปี พ.ศ. ๒๕๕๖
- มีคำสั่งกองทัพบก(เฉพาะ) ที่ ๓๑๐/๕๔ ลง ๒๘ ก.พ. ๕๔ ให้ รร.สธ.ทบ. ย้ายเข้าที่ตั้งแห่งใหม่ในพื้นที่ กคย.สพ.ทบ.
- ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ อาคาร รร.สธ.ทบ. แห่งใหม่ เมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ โดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. เป็นประธาน
ปี พ.ศ. ๒๕๕๗
- ได้มีการก่อตั้ง มูลนิธิ รร.สธ.ทบ. ขึ้นเพื่อเป็นกองทุนในการส่งเสริมการศึกษา เพื่อกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ต่อ รร.สธ.ทบ. และ สาธารณประโยชน์ รวมถึงเป็นสวัสดิการให้แก่กำลังพลและ นทน.ของ รร.สธ.ทบ. โดยมีทุนก่อตั้งเริ่มต้น จำนวน ๒๐๐,๐๐ บาท
- อัญเชิญพระรูปจอมพลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าจักรพงษ์ ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ลงมาประดิษฐาน ณ ห้องรับรองเพื่อรอการเคลื่อนย้ายสู่อาคาร รร.สธ.ทบ. แห่งใหม่ เมื่อ มิ.ย. ๕๗
ปี พ.ศ. ๒๕๕๘
- ประเทศปากีสถานส่งนายทหารเข้ารับการศึกษา เป็นครั้งแรกชุดที่ ๙๐
- เริ่มจัดให้มีการเรียนการสอนระบบ ๒ ภาษา (Bilingual) แก่ นทน.หลักสูตรหลักประจำฯ จำนวน ๒ วิชา ได้แก่ Military Operations และ Staff Operations
- เริ่มดำเนินการก่อสร้างอาคาร รร.สธ.ทบ. แห่งใหม่ เมื่อ ส.ค. ๕๖
- ประกอบพิธีบวงสรวงและพิธีสงฆ์ เพื่อการอัญเชิญ พระรูปจอมพลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ประดิษฐาน ณ อาคาร รร.สธ.ทบ. แห่งใหม่ เมื่อ ๑๒ มี.ค. ๕๘
- กระทำพิธีเปิดอาคาร รร.สธ.ทบ. แห่งใหม่ (อาคารเสนาธิปัตย์) โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อ ๓ เม.ย. ๕๘ และเริ่มศึกษาเต็มหลักสูตร ชุดที่ ๙๔ (พ.ศ. ๒๕๕๘) เป็นหลักสูตรแรก
- ครบรอบ ๑๐๐ ปี จอมพลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าจักรพงษ์ ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ทรงเรียบเรียงตำรา “พงษาวดารยุทธศิลปะ”
ปี พ.ศ. ๒๕๕๙
- สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ส่งนายทหารเข้ารับการศึกษาเป็นครั้งแรก ชุดที่ ๙๔
- ลงนามความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร ณ ห้องยุทธการ รร.สธ.ทบ. เมื่อ ๒๗ ต.ค. ๕๘
- ต้อนรับคณะผู้บัญชาการทหารบกกลุ่มประเทศอาเซียน ๑๐ ประเทศ เยี่ยมชม รร.สธ.ทบ. เมื่อ ๒๔ พ.ย. ๕๘
- จัดตั้งศาลพระภูมิเจ้าที่ประจำ รร.สธ.ทบ. เมื่อ ๒๒ มี.ค. ๕๙
ปี พ.ศ. ๒๕๖๐
- คณะ รร.สธ.ทหาร เกาหลีใต้ เยี่ยมชม รร.สธ.ทบ. เมื่อ ๑ ธ.ค. ๕๙
- ผบ.ทสส.มซ. ศิษย์เก่าดีเด่น รร.สธ.ทบ. เยี่ยมชม รร.สธ.ทบ. ก่อนอำลาเกษียนอายุราชการ เมื่อ ๙ ธ.ค. ๕๙
- รร.สธ.ทบ. จัดทำโครงการอบรม การจัดทำแผนปฏิบัติการ และการบรรยายสรุปให้กับบุคลากรในสังกัดส่วนราชการนอกกระทรวงกลาโหม ตามคำสั่งของ นรม. ตั้งแต่ ๒๐ – ๒๒ ก.พ. ๖๐
- โรงเรียนเสนาธิการทหารบกสถาปนาครบรอบ ๑๐๘ ปี จัดทำหนังสือ “จาก ประภาสโยธิน สู่ เสนาธิปัตย์”
ปี พ.ศ. ๒๕๖๑
- คณะ รร.สธ.ทหาร ศรีลังกา เยี่ยมชม รร.สธ.ทบ. เมื่อ ๑๑ ส.ค. ๖๐
- คณะ รร.สธ.ทบ. อินโดนีเซีย เยี่ยมชม รร.สธ.ทบ. เมื่อ ๒๔ ส.ค. ๖๐
- คณะ รร.สธ.ทหาร สิงค์โปร์ เยี่ยมชม รร.สธ.ทบ. เมื่อ ๓๐ ส.ค. ๖๐
- พล.อ.สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ ผบทสส. กระทำพิธีเปิดการเริ่มดำเนินการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ รร.สธ.ทบ. เมื่อ ๒๖ ก.ย. ๖๐
- คณะ รร.สธ.ทบ. เวียดนาม เยี่ยมชม รร.สธ.ทบ. เมื่อ ๒๘ ก.ย. ๖๐
- รร.สธ.ทบ. จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการของผู้แทนจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิกในหัวข้อ “การปฏิบัติการด้านความมั่นคงทางทหาร (MILitary Security Operations)” ระหว่างวันที่ ๖ – ๙ พ.ย. ๖๐
- กระทำพิธีเปิดสถาบันพัฒนาวินัยและความมั่นคงแห่งชาติ โดยมี พล.ต.พร ภิเษก ผบ.รร.สธ.ทบ. (ตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาวินัยและความมั่นคงแห่งชาติ) เป็นประธาน เมื่อ ๑๐ พ.ย. ๖๐
- คณะ รร.สธ.ทหาร เกาหลีใต้ เยี่ยมชม รร.สธ.ทบ. เมื่อ ๑ ธ.ค. ๖๐